‘อัศวิน’ เผยทุ่ม10ล.ปรับปรุงฟื้นฟูย่านสำคัญในกรุง6จุด (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะลงพื้นที่ตรวจโครงการปรับภูมิทัศน์ย่านปากคลอง บริเวณถนนจักรเพชร ช่วงสะพานเจริญรัช ถึงลานปฐมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 1 สะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร ภายหลัง กทม.มีนโยบายจัดระเบียบทางเท้าบริเวณปากคลองตลาดเมื่อปี 2559 และบริเวณดังกล่าวเป็น 1 ใน 6 จุด โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และฟื้นฟูย่านสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ระหว่างที่คณะของผู้ว่าฯ กทม.เดินตรวจพื้นที่และพิจารณาเลือกรูปแบบการปูทางเท้านั้น ปรากฎว่าผู้ค้าดอกไม้เมื่อรู้ข่าวก็ไปดักรอมอบดอกไม้และพวงมาลัยต้อนรับกันเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างรูปแบบการปูทางเท้าใหม่

พล.ต.อ.อัศวิน ให้สัมภาษณ์ว่า กทม.ได้ตั้งงบประมาณก่อสร้างไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านปากคลองตลาด ขณะนี้การร่างขอบเขตของงานหรือทีโออาร์เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้างตามขั้นตอน โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 120 วัน สำหรับการปรับปรุงนั้น กทม.จะปรับปรุงคันหิน ทางเท้า ทางเข้า-ออก ระบบระบายน้ำทั้งสองฝั่ง จากช่วงสะพานเจริญรัช ถึงลานปฐมราชานุสรณ์ฯ ทั้งสองฝั่ง รวมความยาว 780 เมตร (ม.) เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพผิวจราจรชำรุดและทรุดโทรม ไม่สวยงาม ประชาชนทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ มักประสบอุบัติเหตุสะดุดล้มบ่อยครั้ง โดยจะรื้อทางเท้าเดิมทั้งหมดและปรับปรุงให้สวยงาม ซึ่งก่อนดำเนินการ กทม.จำเป็นต้องล้อมย้ายต้นไม้ใหญ่ จำนวน 10 ต้น เพราะเอนเอียงกีดขวางถนนถึง 1 ช่องจราจร จากนั้นจะนำต้นพิกุลที่มีลักษณะเจริญต้นช้า มีความแข็งแรงคงทนมาปลูกทดแทน พร้อมจัดทำแนวล้อมต้นไม้ให้สวยงาม รวมถึงจัดทำพื้นที่ลาดเอียงสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย

สภาพทางเท้าย่านปากคลองตลาด

“สำหรับการปรับทัศนียภาพทั้ง 6 จุดตามโครงการปรับภูมิทัศน์ย่านสำคัญ ประกอบด้วย ปากคลองตลาด ถนนพญาไท (จากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สะพานหัวช้าง) ถนนพหลโยธิน (5แยกลาดพร้าว-อนุเสารีย์ชัยสมรภูมิ) ถนนสุขุมวิท (ทางรถไฟ-แยกอโศกมนตรี) ถนนสุขุมวิท (สุขุมวิท 62-รถไฟฟ้าบางจาก) ถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน โดยแต่ละพื้นที่กทม.จะต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพคู่ขนานกับโครงการแต้มสีกรุงเทพฯ อีกทั้ง ได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า บริเวณแยกราชประสงค์ ภาคเอกชนจะขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งหมด โดยให้ กทม.เป็นผู้ออกแบบ” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน กทม.อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารข้อมูล เพื่อเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 24 พฤษภาคม เพื่อขอเสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร ด้วยการจัดทำบ่อเพื่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินเอง คาดใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 2 ปี และอาจเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสายสื่อสารเช่าท่อเก็บสายไฟฟ้าหรือสายสื่อสาร ส่วนสายไฟฟ้าจะให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้ดำเนินการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image