ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า..รัฐได้อะไร

ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่พบสุนัขป่วยตาย และมีการส่งตรวจเชื้อหัวสุนัขมากกว่าปีก่อนๆ จนกลายเป็นประเด็นโรคพิษสุนัขบ้าระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น จริงๆ มีการเตือนกันมาก่อนตั้งแต่ปี 2560 แล้วด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะกรณีข้อห่วงใยเรื่องการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่มีปัญหาตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ทักท้วงประเด็นการจัดซื้อวัคซีนไม่ใช่ภารกิจของท้องถิ่น และหากซื้ออาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันยังมีประเด็นว่า บางพื้นที่มีการใช้วัคซีนที่อาจมีปัญหา จนกระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดว่า วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ไม่มีคุณภาพ และมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน จนกลายเป็นข่าวคึกโครม และนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งเห็นย้ายนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และนายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมปศุสัตวแทน

แต่ก็เกิดคำถามว่า สุดท้ายเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าระบาดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมพบแล้วหลายพื้นที่ มีผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว 8 ราย

Advertisement

ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะออกมาตื่นตัวในการรณรงค์ให้พาหมาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกัน ทั้งของรัฐเอง หรือการไปให้สถานบริการภาคเอกชนดำเนินการ รวมทั้งยังออกบริการควบคุมประชากร ด้วยการจับทำหมันสุนัขแมวก็ตาม หรือการออกมารณรงค์กันหนักหน่วงถึงการป้องกันตนเอง และหากถูกกัด ถูกข่วน หรือแม้แต่เปื้อนน้ำลายสุนัขและแมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้องรีบไปฉีดยาป้องกันโดยด่วน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆก็ต้องพึงระวัง

ปรากฏว่าทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้วต้นเหตุเราจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เพราะหากซ้ำรอยมีการทักท้วงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แล้วใครจะทำหน้าที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เหมือนเช่นตอนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เคยถูกสตง.ทักท้วงว่า ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งซื้อยาให้แก่โรงพยาบาลต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ขณะนั้นเป็นช่องว่างมาก เพราะหากหยุดซื้อยา และรอกระบวนการใหม่ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย จนในที่สุด นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีคำสั่งในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ขอให้บอร์ดพร้อมใจกันรับผิดชอบ โดยให้ซื้อยาไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบผู้ป่วย และหาทางแก้ปัญหา ในที่สุดขณะนั้นมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกเป็นม.44 ให้สปสช.สั่งซื้อยาไปในช่วงปีงบประมาณ 2560 จากนั้นให้หน่วยบริการเป็นผู้จัดซื้อยา

ย้อนมาดูเรื่องของวัคซีนพิษสุนัขบ้า ซึ่งไม่มีคำสั่งม.44 ออกมาให้ท้องถิ่นทำหน้าที่ซื้อต่อไป แน่นอนว่า ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ก็มีประเด็นนี้อยู่หนึ่งในหลายประเด็น แต่ไม่ว่าประเด็นใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องยอมรับคือ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งต้องแยกจากประเด็นการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเรื่องวัคซีนด้วย แต่ในแง่ของการบริหารจัดการ จะมีวิธีไหนที่จะปิดช่องว่างเหล่านี้ได้ เช่น หากขณะนั้นที่ท้องถิ่นไม่กล้าซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เพราะกังวลเรื่องอำนาจหน้าที่ แต่หากมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาจัดการ หรือช่วยประสานทำงานอย่างบูรณาการอย่างแท้จริง ปัญหาน่าจะน้อยกว่านี้ หรือที่เรียกว่า One Health สุขภาพหนึ่งเดียว หากทำได้ก็น่าจะดีกว่านี้หรือไม่

แล้วประเทศไทยมีทิศทางอะไรที่จะไปถึงจุดนั้นได้…

คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่มีนพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน มีการประชุมและจัดทำร่างการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยมีคณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดทิศทางงาน และประสานงานต่างๆ ซึ่งจะมีสำนักมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.) เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินการ แน่นอนว่า เรื่องการจัดการปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากสัตว์สู่คนด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่โรคจากสัตว์สู่คนเท่านั้น แต่ยังมีโรคติดต่อเรื้อรัง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เรียกว่าครบทั้งหมด ประเด็นคือ การดำเนินงานต่างๆ จะช่วยในแง่การประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การทำงานเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว หรือพูดง่ายๆ จะเป็นผู้ประสานงานต่างๆให้แบบรวดเร็วขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ปัญหาคือ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องนามธรรมแล้วจะเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน..

เรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข บอกว่า หากเป็นไปตามกำหนดการปฏิรูปด้านสาธารณสุข คณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพฯ และสมสส.จะต้องออกมาเป็นรูปเป็นร่างขับเคลื่อนงานต่างๆ ได้ภายในปี 2561 นี้ แต่ขณะนี้เกิดความไม่ชัดเจน เนื่องจากส่วนตัวกังวลว่าจะทำงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะมาทำงานตรงส่วนที่เกี่ยวพันกับคณะกรรมการปฏิรูปอย่างไร หรือหากบอกว่าจะมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน แต่จริงๆ ในส่วนของด้านสาธารณสุข มีการเตรียมการและพร้อมขับเคลื่อนแล้ว จึงอยากให้มีการส่งสัญญาณว่าเรื่องนี้จะออกมาในทิศทางใด เพราะจากแผนงานที่วางไว้ จะก่อให้เกิดการปฏิรูปด้านสาธารณสุขหลายๆด้านได้อย่างเป็นรูปธรรม

หวังว่างานนี้จะเป็นเพียงอุปสรรคเล็กๆน้อยๆของการปฏิรูปงานด้านสาธารณสุข เพราะสุดท้ายหากเดินหน้าได้ถึงเรียกว่าปฏิรูปอย่างแท้จริง..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image