วท.เรียกประชุมสตาร์ทอัพ ดึงเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเปิดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ประจำปี 2561 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตนจะเรียกประชุมสตาร์ทอัพทั้งหมด เพื่อหารือและชี้แจงทำความเข้าใจการสร้างตลาดให้แก่สตาร์ทอัพ (Market Creation) เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์อัพไทย เข้าร่วมประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) กำลังหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขระเบียบจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องนี้ รวมทั้งตรวจสอบว่าสตาร์ทอัพยังติดขัดเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้เข้าประมูลไม่ได้ เช่น บางครั้งหน่วยงานรัฐจะกำหนดให้ผู้เข้าประมูลต้องเป็นบริษัทในบัญชีรายชื่อของกรมบัญชีกลาง เป็นต้น นับเป็นงานใหญ่มากของ วท. คาดว่าอีก 2-3 เดือนน่าจะได้ข้อมูลชัดเจน การที่ วท.ผลักดันเรื่องนี้ เพราะ ที่ผ่านมา วท.มีการดันให้สตาร์ทอัพเริ่มทำธุรกิจไปแล้ว จากนี้ ควรจะดึงเขาเข้ามาหาตลาดของรัฐ เพื่อให้สตาร์ทอัพ รู้ว่า วท.ไม่ได้ทิ้งพวกเขาให้หาตลาดเอาเอง

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า สนช.จะพูดคุยกับฝั่งสตาร์ทอัพที่ติดปัญหาไม่สามารถประมูลงานภาครัฐได้เพื่อกำหนดโจทย์ว่าควรแก้ไขอย่างไร และคาดว่าจะต้องหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย นอกจากกรมบัญชีกลางแล้ว ทั้งนี้ สนช. มองว่าสตาร์ทอัพหลายรายมีศักยภาพพอที่จะสนับสนุนงานบริหารจัดการภาครัฐและงานบริการสาธารณะอยู่แล้วในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มที่พัฒนา ด้านระบบบัญชี การจัดเก็บภาษี เทคโนโลยีภาคเกษตร เทคโนโลยีการแพทย์ การจัดการข้อมูล เป็นต้น ทั้งนี้ การดึงสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยในระบบบริหารของรัฐเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยโมเดลการทำงานของประเทศต้นแบบที่คาดว่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ คือสหรัฐอเมริกาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะมีศูนย์พัฒนานวัตกรรมรัฐบาลซึ่งเปิดให้สตาร์ทอัพเข้ามาเป็นพันธมิตร ขณะที่สหรัฐฯ มีระบบการบริหารที่แยกเป็นระดับรัฐและระดับเมือง โดยเมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ค ซีแอตเทิล แอตแลนตา จะมีประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ของเมือง หน้าที่คือผลักดันให้เมืองใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการให้เป็นสมาร์ทซิตี้(Smart City) ซึ่งแต่ละเมืองจะมีการเลือกจัดจ้างสตาร์ทอัพมาพัฒนาระบบแตกต่างกันตามความเหมาะสม

“เรามองว่าในประเทศไทยอาจจะนำมาปรับใช้กับฝ่ายบริหารราชการส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อช่วยในการบริการประชาชน” นายพันธุ์อาจ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image