เครือข่ายนักวิชาการจ่อยื่นหนังสือ ‘บิ๊กตู่’ เลิกใช้ ‘พาราควอต’ ยันมีผลต่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการ อาทิ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาเภสัชกรรม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดเวทีแถลงข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรไทยยังมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ในหลายประเทศทั่วโลกได้ยุติการใช้เนื่องจากพบว่ามีผลต่อสุขภาพ ขณะประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณาในประเด็นดังกล่าว

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะกรรมการประสานยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการพิจารณาว่าสมควรยุติการใช้สารเหล่านี้ในประเทศไทยหรือไม่ ในฐานะนักวิชาการจึงจำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ประกอบการพิจารณาควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ และว่า หลังจากนี้เครือข่ายนักวิชาการจะส่งจดหมายพร้อมหลักฐานทางวิชาการไปยังนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามมติของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ด้าน รศ.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกจัดให้พาราควอตเป็นสารอันตรายระดับปานกลาง แต่มีคำอธิบายเพิ่มเติมระบุไว้ว่า หากดูดซึมเข้าร่างกาย พาราควอตจะส่งผลกระทบอันตรายร้ายแรง แม้จะมีอันตรายน้อยหากใช้ตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง แต่สามารถส่งผลกระทบถึงชีวิตหากพาราควอตเข้มข้นเข้าสู่ร่างกายทางปาก หรือสัมผัสผิวหนัง ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2553-2559 พบอัตราการตายของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ได้รับพาราควอตสูงถึงร้อยละ 46.18 หรือคิดเป็นร้อยละ 10.2 กรณีที่ผู้ป่วยสัมผัสทางผิวหนัง ร้อยละ 14.5 กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ตั้งใจ และร้อยละ 8.2 กรณีที่เกิดจากการประกอบอาชีพ

“จากหลักฐานดังกล่าว จัดได้ว่าพาราควอตเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์และไม่มียาถอนพิษ อีกทั้งงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เอง ก็ยืนยันผลกระทบต่อสุขภาพจากสารทั้ง 3 ชนิดเช่นกัน โดยพาราควอตสามารถเข้าสมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ และทำให้เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลอง และเซลล์ประสาทตาย ในขณะที่คลอร์ไพริฟอสสามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ และไกลโฟเซตสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งพาฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในปริมาณที่ต่ำมาก และเป็นช่วงที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารไกลโฟเซตระดับต่ำทำให้เซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจนเพิ่มจำนวนขึ้น 5-13 เท่า” รศ.จุฑามาศกล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพของพาราควอตและไกลโฟเซตว่า มีหลักฐานมากมายทั้งที่มีการติดตามผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ และเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการในระดับเซลล์และในระดับยีน พบตรงกันว่าสารเหล่านี้มีพิษในระยะยาวและก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวพันกับมะเร็ง

“ส่วนตัวแล้วได้พบคนตายอย่างทรมานหลายราย ที่พลาดสัมผัสผิวหนังหรือกินโดยอุบัติเหตุ และตายทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวายและไตวาย ต่อมาแม้มีการใช้โดยให้มีการปกปิดร่างกายมิดชิด แต่ก็ยังสามารถเข้าร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนัง ผิวหนังอ่อน เยื่อบุ รวมทั้งเข้าทางแผล แล้วซึมเข้าร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิต นอกจากนั้นภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้พบว่าโรคพาร์กินสันก่อกำเนิดได้โดยมีความเชื่อมโยงกับในลำไส้ ทั้งนี้อาจจะเกิดขึ้นจากเชื้อโรค หรือสารพิษ สารเคมี และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบและสามารถเปิดผนังกั้นหลอดเลือดในสมองจนทำให้สารพิษสามารถทะลักเข้าไปได้ และนอกจากนั้นอาจจะสามารถเข้าไปทางเส้นประสาทที่อยู่ที่ลำไส้ จากนั้นส่งต่อผ่านไปยังสมองส่วนต่างๆ จนเกิดโรคทางสมองตามมา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image