‘ลูกจ้างราชการ’ 5 แสนคนถูกจ้างเหมาไม่เป็นธรรม ไร้สิทธิสวัสดิการ เตรียมรวมพลร้อง ‘บิ๊กตู่’

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)  และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากประเด็นค่าจ้างที่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้จะได้ค่าจ้างตามเกณฑ์กฎหมายแรงงาน แต่กลับพบว่าไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย และไม่ใช่แค่ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่พบว่า มีทุกกระทรวงที่มีปัญหาดังกล่าว นั่นคือ กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มสัญญาจ้างเหมาทำของ โดยในส่วนนี้เป็นลูกจ้างส่วนราชการ เพราะส่วนเอกชนจะได้สิทธิจากประกันสังคมอยู่แล้ว แต่ส่วนนี้พวกเขาจะถูกจ้างงานเฉลี่ยได้เดือนละ 8,600 บาทบวกกับค่าครองชีพ 1,200 บาท ก็จะเป็น 9,800 บาทต่อเดือน แต่สิทธิสวัสดิการอื่นๆไม่ได้รับ ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลก็ต้องไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งให้กับคนไทยทุกคนอยู่แล้ว

“ปัญหาคือ แม้ขณะนี้จะมีการเดินหน้าเรื่องร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน ฉบับ .ศ. ซึ่งจะให้สิทธิสวัสดิการเงินทดแทนการขาดรายได้ หรือการประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการทำงานก็จะได้รับการช่วยเหลือ และหากพิการ ทุพพลภาพก็จะได้รับเงินช่วยเหลือไปตลอดนั้น ปัญหาคือ พ.ร.บ.นี้เมื่อประกาศใช้ในช่วงปี 2561 แม้จะครอบคลุมลูกจ้างทั้งส่วนราชการ และส่วนเอกชน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาภายในพ.ร.บ.กลับพบว่า อาจไม่ได้รวมลูกจ้างเหมากลุ่มนี้ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ประมาณ 4-5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาดในบางกลุ่ม แม่บ้าน รวมทั้งธุรการ คนเดินเอกสารต่างๆ เป็นต้น ” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า ปี 2552  ที่ผ่านมาเคยมีกรณีลูกจ้างเหมาบริการร้องต่อศาลปกครองถึงกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งศาลมีคำสั่งออกมาในปี 2556 มองว่า พวกเขาเป็นลูกจ้าง ควรต้องเข้าประกันสังคมด้วย แต่จากร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ฉบับใหม่ เมื่อไปพิจารณาในรายละเอียดกลับไม่ได้ครอบคลุมลูกจ้างกลุ่มนี้ และจากที่เคยหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความและระบุว่า เนื่องจากการจ้างงานเป็นการนำเงินหมวดวัสดุมาจ้างในคนเพื่อให้ทำงาน และมีสัญญาจ้างระบุว่า เป็นการทำของอิงจากการนำเงินหมวดวัสดุ ทำให้ต้องตีความว่า เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างคนทำงาน เครือข่ายฯ จึงห่วงว่า ในร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ จะครอบคลุมลูกจ้างส่วนราชการที่จะเข้าใหม่เพียง 940,000 คน และอีก 4-5 แสนคนที่เป็นลูกจ้างส่วนราชการด้วย แต่เป็นการจ้างคนละประเภทก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากจุดนี้

“ขณะนี้เครือข่ายฯ และภาคีต่างๆ กังวลเรื่องนี้มาก และกำลังจะหารือร่วมกันว่า จะมีแนวทางช่วยหลืออย่างไร เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานที่ต่ำกว่ากฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้แต่เรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ การช่วยเหลือที่ลูกจ้างพึงได้รับ คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องออกมาเป็นนโยบาย และเดินหน้าเป็นกฎหมาย ซึ่งต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ดำเนินการ โดยทางพเครือข่ายและภาคีต่างๆ จะมีการหารือร่วมกัน และคาดว่าจะทำหนังสือเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลมองเรื่องความเท่าเทียมเป็นสำคัญ แต่ในส่วนราชการกลับยังมีประเด็นเรื่องเหล่านี้อยู่ จึงมองว่า ควรทำในส่วนราชการด้วย ไม่ใช่มุ่งเน้นนโยบายออกมาเพื่อให้เอกชนทำเท่านั้น ” นายมนัส กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ตามกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่มีนายจ้าง เพราะถือเป็นการจ้างงาน  แต่กรณีการจ้างทำของต้องดูในสัญญา เนื่องจากการจ้างทำของ จะกำหนดชัดเจนว่าทำอะไร เมื่อไร เช่น กวาดถูทำความสะอาดในบริเวณหนึ่ง หากเสร็จก็เป็นอันจบ ไม่มีการบังคับบัญชาเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมาอาจมีบางแห่งมีการจ้างผิดไป ซึ่งตรงนี้ลูกจ้างที่มองว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนและฟ้องต่อศาลแรงงานได้ เนื่องจากถือว่าขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งหากผ่านตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะประกาศใช้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างเหมาดังกล่าว จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร นพ.สุรเดช กล่าวว่า มีม.40 ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเอง โดยเฉลี่ยจะมีทางเลือกการจ่ายให้ เช่น จ่ายเดือนละ 300 บาท ก็จะได้กรณีหากหยุดงานเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุมีใบรับรองแพทย์ ก็สามารถมายื่นรับเงินทดแทนได้วันละ 300 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินสงเคราะห์บุตร มีเงินทดแทนการทุพพลภาพ มีเงินค่าทำศพ เป็นต้น ซึ่งสามารถสอบถามมาได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image