สปส.อัดฉีดหมื่นล้านให้สถานประกอบการ ‘จ้างงาน’

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาชุดที่ 13 มีมติอนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.กู้เงินกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่แรงงาน และสามารถรักษาหรือเพิ่มอัตราการจ้างงานได้ ที่สำคัญทำให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคมที่มีสวัสดิการคุ้มครองอย่างมั่นคงยั่งยืน

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จำนวน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.วงเงิน 6,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย 2.วงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51-200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย และ 3.วงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ในกรณีการกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี และคงที่ 3 ปี กรณีการกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี และคงที่ 3 ปี ซึ่งเมื่อเทียบแล้วเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการกู้จากสถาบันการเงินทั่วไป

“อย่างไรก็ตาม การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างประสานธนาคารที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ต่อไป และคาดว่าจะเปิดให้สถานประกอบการสามารถยื่นขอรับสินเชื่อในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้” นพ.สุรเดช กล่าวและว่า สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับ สปส.และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของ สปส.เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคม มาลงทุนทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้างและผู้ประกันตนได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image