สังคายนา ‘ตู้น้ำหยอดเหรียญ’ สิ้น พ.ค.นี้ 6,329 ตู้ทั่วกรุงถูก กม.

กลายเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อน หลังเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคนำสมาชิกเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง

แม้ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้เป็นผู้รับหนังสือด้วยตนเอง แต่เมื่อเรื่องถึงหูว่าตู้น้ำดื่มไม่มีใบอนุญาตร้อยละ 90 ก็ยอมรับว่าไม่เคยรับรู้ดังกล่าว วันเดียวกันจึงสั่งการให้นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะรับผิดชอบหน่วยงานด้านสาธารณสุขออกหนังสือด่วนที่สุด (ว.8) ทันที ให้เร่งสำรวจตู้น้ำดื่มในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมด และรายงานผู้ว่าฯ กทม. เพราะเป็นห่วงประชาชนจะได้รับอันตรายจากน้ำดื่มไม่สะอาด

Advertisement

จากข้อมูลสำรวจเบื้องต้นของสำนักอนามัยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม น่าตกใจว่ามีตู้น้ำดื่มจำนวน 3,964 ตู้ มีใบอนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้ตู้กดน้ำหยอดเหรียญเข้าข่ายกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดเพียง 160 ตู้เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 3,804 ตู้ พบว่าไม่มีใบอนุญาต แต่คณะผู้บริหาร กทม.เชื่อว่ามีจำนวนมากกว่านั้น จึงสั่งสำรวจใหม่อีกครั้งและรายงานข้อมูล โดยในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานของเจ้าพนักงานสาธารณสุข ผู้บริหารสำนักอนามัย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล 50 เขต และผู้แทนจากศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) กทม.ร่วมหารือเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการรายงานข้อมูลดังกล่าว

ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤษภาคม พบตู้น้ำดื่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 6,329 ตู้ เมื่อตรวจสอบละเอียดกลับพบตู้น้ำดื่มได้รับอนุญาตเพียง 143 ตู้เท่านั้น อีก 6,186 ตู้ไม่มีใบอนุญาต เข้าข่ายผิดกฎหมาย

Advertisement

นายทวีศักดิ์เปิดเผยว่า สาเหตุหลักเพราะผู้ประกอบการไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท อย่างไรก็ดี จากการสุ่มตรวจสุขลักษณะและคุณภาพน้ำดื่มด้วยชุดทดสอบบริโภคอย่างง่าย หรือ อ11 จำนวน 5,350 ตู้ พบตู้น้ำดื่มจำนวน 4,564 ตู้ หรือร้อยละ 86 เป็นตู้ที่มีน้ำดื่มมีมาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย ส่วนที่เหลืออีก 475 ตู้ หรือร้อยละ 14 ไม่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งอย่างน้อยข้อมูลสุ่มตรวจคุณภาพน้ำก็ช่วยทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าตู้กดน้ำส่วนใหญ่มีน้ำสะอาด แม้ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้อง

สำหรับพื้นที่ที่พบตู้กดน้ำหยอดเหรียญไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด ได้แก่ พื้นที่เขตจตุจักร 322 ตู้ เขตวังทองหลาง 322 ตู้ เขตลาดพร้าว 295 ตู้ เขตมีนบุรี 250 ตู้ เขตบางแค 231 ตู้ และเขตธนบุรี 209 ตู้ ส่วนเขตพื้นที่อื่นพบมีตู้กดน้ำราว 100 กว่าตู้ ส่วนใหญ่ถูกติดตั้งในพื้นที่ชุมชน หอพัก อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นายทวีศักดิ์ได้นำคณะลงพื้นที่ไปตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯอีกครั้ง

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้คุณภาพนั้น กทม.ได้สั่งปิดตู้-ห้ามใช้บริการเด็ดขาด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้แก้ไข และเมื่อแก้ไขแล้วให้แจ้งมายัง กทม.เข้าตรวจสอบอีกครั้ง คู่ขนานกับการขอใบอนุญาต เพราะน้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร โรคบิด เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง ไวรัสตับอักเสบจากการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มและเชื้ออีโคไล

“ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เขต แจ้งไปยังผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทุกรายยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พร้อมกับให้เขตเร่งรัดการพิจารณาให้อนุญาตโดยเร็ว เพราะไม่อยากให้ปัญหาดังกล่าวคาราคาซังอีก หากผู้ประกอบการไม่ยื่นขออนุญาตตามกำหนด จะสั่งหยุดประกอบกิจการทันทีตามข้อมูลสำรวจในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในจำนวนดังกล่าวพบมีจำนวนตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะราว 100 ตู้ กทม.จะประสานไปยังเจ้าของให้รื้อถอน หากไม่มีเจ้าของ กทม.จะรื้อถอนออกจากพื้นที่สาธารณะทันที” นายทวีศักดิ์กล่าวและว่า ขณะนี้เขตทยอยรื้อถอนไปบ้างแล้ว รวมถึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการ ห้างร้านและอาคาร ถึงขั้นตอนการขออนุญาตและสุขลักษณะอนามัยไปพร้อมกัน คาดว่าสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้จะเริ่มเห็นภาพตู้น้ำดื่มถูกกฎหมายทั่วกรุงเทพฯ

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ภายหลัง กทม.ดำเนินการสำรวจและทุกเขตจัดการทุกตู้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย กทม.จะนำสติ๊กเกอร์ซึ่ง กทม.ได้จัดทำขึ้นใหม่พร้อมคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ประชาชนสแกนยืนยันความปลอดภัย โดยจะมีรายละเอียดของใบอนุญาตและข้อแนะนำ ต่อไปประชาชนสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ของ กทม.ได้

สำหรับข้อแนะนำในการเลือกบริโภคตู้กดน้ำหยอดเหรียญให้ปลอดภัยมีดังนี้ 1.สังเกตลักษณะกายภาพภายนอกว่าตู้สกปรก สะอาด มีสภาพผุกร่อน หัวจ่ายน้ำมีตะไคร่เขียว สะอาดเพียงพอหรือไม่ สถานที่ตั้งตู้เหมาะสม อาทิ ไม่ติดตั้งบริเวณทางเท้าสาธารณะ จุดทิ้งขยะ ห้องน้ำ และสำรวจสายไฟชำรุดหรือไม่ เพื่อป้องกันไฟฟ้าชอร์ตหรือไฟรั่ว 2.สังเกตฉลากหรือสติ๊กเกอร์ของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ข้างตู้ว่ามีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ วัน-เวลาเปลี่ยนไส้กรองครั้งล่าสุด รายละเอียดบ่งบอกการทำความสะอาดตู้กดน้ำ และ 3.ขณะกดน้ำให้สังเกตสี-กลิ่นของน้ำต้องไม่ปนเปื้อน รวมถึงภาชนะที่มีความสะอาด ไม่มีสารปนเปื้อนและไม่ใช้ซ้ำบ่อยครั้ง เนื่องจากขวดน้ำจะมีอายุใช้งาน

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมการประกอบการกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กทม.ยังอยู่ระหว่างยกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อลดค่าธรรมเนียมเหลือ 500 บาทต่อปี กระตุ้นผู้ประกอบการให้ขออนุญาตมากขึ้น ล่าสุด ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. …ได้รับความเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว กำหนดพิจารณาแปรญัตติ 7 วัน และให้พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 120 วัน

คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image