ปูดอีก! 4 กระทรวง ปัญหาจ้างเหมาบริการเยอะ กมธ.เล็งประชุมหาทางออก

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นายมนัส โกศล เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับ พ.ศ. กล่าวถึงประเด็นความคืบหน้ากรณีการช่วยเหลือลูกจ้างแบบจ้างเหมาที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆอีก 4-5 แสนคน ว่า ในการประชุมหารือของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.เงินทดแทนฯ เพื่อให้ลูกจ้างทั้งส่วนราชการและส่วนเอกชนได้รับสิทธิสวัสดิการทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ฯ ทำให้พบว่ามีปัญหาตรงขาดอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ความสำคัญมาก เพราะคนกลุ่มนี้ถูกจ้างงานแบบเหลื่อมล้ำ และขาดสิทธิสวัสดิการ แม้แต่การรักษาพยาบาลระหว่างบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงานก็ไม่ได้รับ หากจะได้รับต้องพึ่งพาตัวเองด้วยการจ่ายเงินสมทบในประกันสังคม

โฆษกกมธ.วิสามัญฯ กล่าวอีกว่า การจ่ายเงินสมทบในประกันสังคมก็มีการแยกส่วนอีก หากลูกจ้างเหมาบริการกลุ่มนี้ ใครที่เคยทำงานในภาคเอกชนและเป็นผู้ประกันตนตามระบบมาแล้ว 1 ปี เมื่อลาออกไปก็สามารถจ่ายสมทบตามม.39 ของกองทุนประกันสังคม ก็จะทำให้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล แต่ก็ต้องจ่ายเอง นายจ้างไม่ได้จ่าย ขณะที่กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเป็นลูกจ้างภาคเอกชน เมื่อมาทำงานในส่วนราชการด้วยการจ้างงานลักษณะนี้ ทำให้หากต้องการจ่ายเงินสมทบ ตามกฎหมายก็จะให้จ่ายสมทบตามม.40 เท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้ในส่วนรักษาพยาบาล แต่จะได้เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เงินปลงศพ เงินบำเหน็จ เป็นต้น แต่ถามว่าแล้วทำไมลูกจ้างกลุ่มนี้ต้องถูกแบ่งแยก เพราะเหตุใดถึงไม่ให้พวกเขาได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมเหมือนลูกจ้างทั่วไป

” ในเร็วๆนี้ กมธ.วิสามัญฯ จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าง กพร. สำนักงบประมาณ เพื่อสอบถามว่า เพราะเหตุใดหน่วยราชการจึงมีการจ้างงานลักษณะดังกล่าว เนื่องจากหลายครั้งจ้างเหมา แต่ก็ไปปรับเปลี่ยนวิธีในการจ้างเปลี่ยนหมวด จากวัสดุไปเป็นจ้างคน เพื่อให้เป็นจ้างเหมา ทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ หลายครั้งก็จ้างลากยาวเป็นปี และทำเป็นสัญญาปีต่อปีก็มี สุดท้ายมีกลุ่มหนึ่งทำงานเป็นสิบๆ ปี พอมาอายุ 40-50 ปีไม่ต่อสัญญา พวกเขาก็ไม่ได้อะไรเลย  ซึ่งในส่วนกมธ.วิสามัญฯก็จะสอบถามประเด็นเหล่านี้ นอกจากนี้ ก็จะขอข้อมูลเพราะที่ผ่านมาเราทราบว่า มีกลุ่มลูกจ้างประมาณ 4-5 แสนคนที่ได้รับผลกระทบ และทราบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ตัวเลขแต่ละกระทรวงมากน้อยแค่ไหนเรายังไม่ทราบ” นายมนัสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของ คปค.และสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยจะมีการประชุมเรียกร้องเมื่อไหร่ นายมนัส กล่าวว่า จะมีการประชุมกันช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อหารือว่าจะขอยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการได้เข้าสู่ประกันสังคม

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image