ศิลปินเรียกร้อง กทม. คุยหอศิลป์ ขีดเส้น 15 วัน จี้ต่ออายุสัญญาอย่างไม่มีเงื่อนไข (คลิป)

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เครือข่ายศิลปินและประชาคมศิลปวัฒนธรรม มีการจัดแถลงการณ์ “หอศิลปฯ ยืนยาว” อันสืบเนื่องจากกรณีกรุงเทพมหานครมีแนวคิดนำหอศิลปฯกลับไปบริหารกระทั่งเกิดกระแสการต่อต้าน โดยมีการรณรงค์เข้าชื่อคัดค้านผ่านเว็บไซต์ change.org รวมถึงการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ต่อมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แถลงยุติแนวคิดดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการตั้งโต๊ะแถลงบริเวณหน้าประตูทางเข้าออกบริเวณชั้น 1 โดยมีป้ายไวนิลขนาดใหญ่สีดำ พิมพ์อักษรสีขาว ข้อความว่า “ชีวิตสั้น หอศิลปยืนยาว” ผู้ร่วมงานสวมเสื้อยืดสกรีนข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ “เราเลือกหอศิลป์” “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า” เป็นต้น

เวลาประมาณ 10.15 น. ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้ต้องมีการย้ายโต๊ะแถลงเขยิบออกไปด้านข้าง จากนั้นเริ่มต้นการแถลงด้วยการอ่านบทกวีประกอบการเป่าขลุ่ย โดย “แม่น้ำแรลลี่”  จามิกรณ์ แสงสิริ และสมพงศ์ ทวี

จากนั้นเป็นการแถลงการณ์ โดยมีผู้ร่วมแถลงได้แก่ นางลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีต ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นายจุมพล อภิสุข, นายวสันต์ สิทธิเขตต์ และนายมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชื่อดังซึ่งเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ มีเนื้อหาดังนี้

Advertisement

“ดังที่ปรากฏท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ขณะนี้ประชาชนไม่อยากให้ กทม.เข้าไปดูแล เนื่องจาก กทม.ไม่มีประสบการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ให้ทางมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินการไปจนกว่าจะครบกำหนดปี 2564 ส่วนตอนนั้นผู้ว่าฯกทม.จะเป็นใคร ผมก็ไม่รู้แล้ว”

ทางเครือข่ายศิลปินและประชาสังคมศิลปวัฒนธรรม ต้องขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าฯที่ยุติแนวคิดการยึดคืนหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกลับไปบริหารเอง แต่คำสัมภาษณ์ข้างต้นของท่านกลับสะท้อนให้เห็นภาพหวั่นไหวว่า “อนาคตของหอศิลปฯประชาชนแห่งนี้ยังไม่แน่นอน” ทำไมเราต้องรอให้ถึงปี 2564 จึงจะรู้ชะตากรรม

หากท่านผู้ว่าฯอัศวินต้องการทำเพื่อประชาชนจริงตามที่ท่านกล่าวกับสื่อ ทางเครือข่ายขอให้ท่านใช้โอกาสนี้พิสูจน์ความจริงใจด้วยการสร้างหลักประกันอนาคตให้แก่หอศิลปฯอย่างยั่งยืนดังนี้

Advertisement
  1. ขอให้ผู้ว่าฯดำเนินการต่ออายุสัญญาโอนสิทธิการใช้อาคารให้แก่มูลนิธิหอศิลปฯโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
  2. ขอให้ผู้ว่าฯเร่งดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารและดำเนินงานของมูลนิธิหอศิลปฯโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดสรร และการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
  3. การสรรหากรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ ขอให้ผู้ว่าฯเห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการมูลนิธิ โดยกรรมการสรรหาประกอบไปด้วย

3.1 ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร

3.2 ตัวแทนศิลปิน

3.3 ตัวแทนนักวิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะ

3.4 ตัวแทนด้านเด็กและเยาวชน

3.5 ตัวแทนด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 3.2-3.5 ขอให้มูลนิธิหอศิลปฯเป็นผู้เสนอรายชื่อ

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อย เครือข่ายขอให้ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนมูลนิธิหอศิลปฯเร่งดำเนินการจัดประชุมโดยด่วน เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใน 15 วันทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสัญญาตามปฏิญญาที่ทำร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและเครือข่ายประชาชนด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 และภารกิจของภาครัฐที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image