2 หน่วยงานก.แรงงาน ช่วยลูกจ้างถูกลิดรอนสิทธิ เร่งหาข้อมูล 4 กระทรวงใหญ่

กรณีมีการเปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกจ้างส่วนราชการกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า ลูกจ้างเหมาบริการ ถูกลิดรอนสิทธิสวัสดิการ เนื่องจากรุปแบบการจ้างคล้ายลูกจ้างทั่วไปที่ต้องได้สิทธิประกันสังคม แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับสิทธิใดๆ ซึ่งมีมากกว่า 4-5 แสนรายกระจายทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสาสมัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน พ.ศ… เตรียมหารือเพื่อช่วยเหลือประเด็นดังกล่าวนั้น

ความคืบล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม  นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงกรณีลูกจ้างเหมาบริการถูกลิดรอนสิทธิ หรือถูกสัญญาเอาเปรียบไม่ได้สิทธิประกันสังคม ว่า หากเป็นลูกจ้างจ้างเหมาจริงๆ ตามกฎหมายจะไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้าง เพราะการจ้างเหมาเหมือนเป็นการรับสัญญาว่าจะทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง กรณีนี้หากลูกจ้างเหมาต้องการสิทธิเพิ่มก็จะสามารถเข้าสมัครจ่ายเงินสมทบกับกองทุนประกันสังคมในม. 40 ซึ่งจะได้ในส่วนของเงินทดแทน การช่วยเหลือกรณีการเจ็บป่วยจากการทำงาน มีเงินบำเหน็จเงินออม ซึ่งม. 40 จะเป็นในส่วนของแรงงานนอกระบบนั่นเอง ซึ่งการรักษาพยาบาลก็จะใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง ส่วนกรณีการจ่ายเงินสมทบของม.39 นั้นเป็นการจ่ายในกรณีที่ลูกจ้างเคยทำงานภาคเอกชน และเป็นผู้ประกันตนทั่วไปมาเป็นเวลา 1 ปี แต่ลาออกไป ซึ่งภายใน 6 เดือนมาสมัครจ่ายเงินสมทบเองในส่วนนี้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว

“ปัญหาคือ ในกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการที่ถูกส่วนราชการจ้างนั้น อาจมีการจ้างงานที่ไม่ชัดเจน หมายความว่า การว่าจ้างเป็นแบบจ้างเหมา เช่น ในสัญญาระบุว่าให้ทำงานรูปแบบนี้เป็นเวลา 1 ปีและจะให้เงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ๆ แต่ปรากฏว่าความเป็นจริงกลับให้ทำงานเหมือนลูกจ้างราชการทั่วไป มีการเข้างานเช้าและกลับเย็น เหมือนราชการคนอื่นๆ ซึ่งแบบนี้ถือว่าเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้าง ซึ่งตรงนี้น่าห่วง เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆ เลย แต่เราจะเข้าไปตรวจสอบเลยคงไม่ได้ ต้องรอให้ลูกจ้างที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมร้องเข้ามา เราสามารถลงไปได้ว่า กรณีนี้สมควรต้องอยู่ในเกณฑ์ของประกันสังคมหรือไม่ หากต้องอยู่เราก็จะแจ้งทางส่วนราชการนั้นๆ เพื่อให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง” นพ.สุรเดช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าลูกจ้างกังวลว่า หากแจ้งไปจะกระทบต่องาน นพ.สุรเดช กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล เนื่องจากหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้โทรมาที่สายด่วน 1506 ทางสำนักงานประกันสังคมจะลงไปตรวจสอบโดยไม่แจ้งว่าได้รับการร้องเรียนจากใคร แต่หากตรวจสอบแล้วเป็นสัญญาที่ถูกต้องก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่หากมีการว่าจ้างทำสัญญาที่ไม่ชัดเจน เราก็ต้องแนะนำให้ส่วนราชการนั้นๆ ปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ส่วนในเรื่องของสิทธิสวัสดิการต่างๆนั้นจะเป็นหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ดูแล ทางสำนักงานประกันสังคมจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่า ลูกจ้างนั้นๆ เข้าข่ายเป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างทั่วไปหรือไม่ หากมีก็ต้องเข้าสิทธิประกันสังคม

Advertisement

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มลูกจ้างในส่วนราชการของกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีประมาณ 4-5 แสนคน ถูกจ้างงานแต่ไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆ ซึ่งล่าสุดพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้ กสร.ตรวจสอบ โดยเฉพาะใน 4 กระทรวงใหญ่ ว่า ขณะนี้ต้องตรวจสอบว่าลูกจ้างเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มใด 1.เป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนที่หน่วยราชการว่าจ้างบริษัทให้จัดหาคนมาทำงานหรือไม่ หากใช่ แล้วไม่ได้สิทธิหรือค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน ส่วนนี้ กสร. มีอำนาจเข้าไปจัดการให้นายจ้างคือบริษัทเอกชนทำตามกฏหมายได้ แต่หาก 2.เป็นลูกจ้างที่หน่วยราชการว่าจ้างเป็นรายบุคคล ก็ต้องเป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ ที่จะต้องพิจารณาปรับแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งส่วนนี้ กสร.ไม่มีอำนาจในการบังคับ

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า หากลูกจ้างคนใดเป็นพนักงานราชการ จะต้องเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งส่วนนี้จะมีสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ในกรณีที่เป็นลูกจ้างที่ส่วนราชการจ้างมาเอง กระทรวงแรงงานไม่มีอำนาจใดเข้าไปบังคับได้ ยกเว้นแต่จะขอความร่วมมือไปยังหน่วยราชการนั้นๆ ให้ดูแลอย่าให้คนกลุ่มนี้ด้อยสิทธิที่พึงได้เท่านั้น ซึ่งหากเป็นไปได้จะต้องหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง ในการกำหนดอัตราค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆใหม่ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กสร. จะเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง นายอนันต์ชัย กล่าวว่า เบื้องต้นต้องทราบก่อนว่า ลูกจ้างที่มีปัญหาอยู่ในสถานะใด และเรื่องนี้จำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ เพราะในแง่กฎหมาย หากเป็นลูกจ้างที่หน่วยราชการจัดจ้างเอง กสร.ไม่มีช่องกฎหมายที่จะไปดูแลใดๆได้เลย นอกจากขอความร่วมมือ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image