นักวิชาการเผยสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมหลายสิบปี ถูกล้มหมดยุค คสช. เจอโครงการเดียวกับยุคทักษิณ แต่ไร้ทางต้าน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม Social Science Forum ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และกลุ่มองค์กรทางสังคมต่างๆ จัดกิจกรรมวิชาการ “D-Move ก้าวที่ดีเลือกทางที่เดิน”

เวลา 09.30 น. มีการเสวนา “สถานการณ์สิทธิชุมชน เกษตร และทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันและอนาคต ดำเนินรายการโดย น.ส.กิตติกาญจน์ หาญกุล วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมคนเมืองจะสนใจเรื่องเสือดำ ป่าแหว่ง หรือเรื่องเขื่อนและโรงไฟฟ้าบ้าง แต่ คสช.ได้ดำเนินการอีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อคนที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า และออกกฎระเบียบให้การใช้ทรัพยากรรวดเร็วมากโดยไม่มีการตรวจสอบ คสช.อ้างว่าเข้ามาเรื่องการเมือง เพื่อปฏิรูปประเทศไม่ให้นักการเมืองบางกลุ่มเข้ามายุ่ง แต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เข้ามาจัดแจงชีวิตประชาชนหลายรูปแบบ คสช.และสถาบันทหารพยายามแทรกแซงเรื่องการจัดการทรัพยากรนานแล้ว ตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์จัดการคนชนบทโดยยกเรื่องป่าเข้ามาเป็นนโยบายความมั่นคง โดยมองว่าคนในป่าเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ นำไปสู่การขับไล่คนออกจากป่าที่ขีดเส้นอนุรักษ์ขึ้นมา ทำให้เกิดการโยกย้ายชุมชนโดยเฉพาะช่วงที่ทหารมีอำนาจ

“ที่ผ่านมาหลายสิบปีจากการต่อสู้ของประชาชนทำให้เกิดแนวปฏิบัติใหม่ที่เห็นหัวประชาชนมากขึ้น แต่ 4 ปีที่ผ่านมาของ คสช. หลักการเหล่านี้ถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด ยกเลิกขั้นตอนตรวจสอบต่างๆ เช่นการทวงคืนผืนป่าที่ออกคำสั่งให้กองทัพและ กอ.รมน.เป็นผู้ดูแล มีการยกเลิกอีไอเอ ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่คนประท้วงกันมากสมัยทักษิณ ชินวัตร หลักประกันคุ้มครองสิ่งแวดล้อมถูกตัดหมด และปิดกั้นพื้นที่การมีส่วนร่วมและการต่อรองของประชาชน สิ่งที่ประชาชนเคยต่อสู้กันมาถูกยกเลิกหมด สิ่งที่เราต้องการคือรัฐบาลที่เห็นหัวประชาชน ซึ่งทำได้ด้วยการเลือกตั้ง เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้สะท้อนว่าไม่เห็นหัวประชาชน” ดร.เบญจรัตน์กล่าว

Advertisement

น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คำสั่งทวงคืนผืนป่าของ คสช.รุนแรงมาก ให้ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้บุกรุก เกิดการเข้าทำลายตัดต้นไม้ชาวบ้านโดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน จนเกิดเรื่องป่าแหว่ง คนจึงตั้งคำถามว่าสิทธิในการตัดสินใจว่าใครควรอยู่ในที่ดินเหล่านี้อยู่ที่ใคร แล้วยังมีคำสั่งยกเว้นผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะ แม้ภาคประชาชนฟ้องศาลปกครอง แต่ศาลชี้ว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบมาตรา 44 รวมถึงให้เปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างก่อนการทำอีไอเอได้

“นอกจากนี้คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป แม้จะทำตาม พ.ร.บ.ชุมนุม แต่ จนท.ก็ใช้ดุลพินิจว่าจะขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ จำกัดเสรีภาพแสดงออกของประชาชน และมีคำสั่งให้อำนาจทหารค้น จับกุมกักตัว 7 วันต่อผู้มีอิทธิพล แต่กลายเป็นว่าประชาชนที่ออกมาต่อต้านเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลไป ที่น่าเป็นห่วงคือคำสั่งที่เกี่ยวกับการตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยให้ดำเนินการตั้งแต่ยังไม่มี พ.ร.บ.อีอีซี ยกเลิกผังเมือง ให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินได้นานมาก มีการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ ถ้าจะมองอนาคตที่คุ้มเครื่องเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพต่างๆ ต้องให้ยกเลิกคำสั่งประกาศกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ และให้ออกกฎหมายใหม่ที่คุ้มครองสิทธิประชาชน” น.ส.สุภาภรณ์กล่าว

นายไพฑูรย์ สร้อยสด สมัชชาคนจน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามลดจำนวนเกษตรกรเพื่อทำให้ราคาพืชผลสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่แก้ปัญหาราคาพืชผล กรณีการแก้ปัญหาข้าวก็ให้ไปปลูกอ้อย ข้าวโพด หรือหมามุ่ยแทน หน้าแล้งก็ไม่ปล่อยน้ำให้ทำนา ส่งทหารไปคุมเครื่องสูบน้ำ แม้ก่อนรัฐประหารราคาข้าวไม่สูงมากแต่รัฐบาลก็ยังช่วยเหลือบ้าง แต่ คสช.บอกให้เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น แล้วช่วงหลังพอราคาข้าวสูงขึ้น คสช.ก็บอกว่าเป็นผลงานตัวเองแต่ที่จริงเป็นเพราะภัยธรรมชาติ ผลผลิตจึงน้อย หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ให้วิธีแก้ปัญหาราคาผลผลิตต่างๆ ตกต่ำด้วยการให้ไปปลูกพืชอื่น แล้วปรากฏว่าคนปลูกแล้วขายไม่ได้จริง ตนจึงระวังว่าหากแนะนำให้ปลูกอะไร ตนจะเลี่ยงปลูกพืชชนิดนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image