ทช.ส่งเจ้าหน้าที่ค้นหา ‘ฉลามวาฬ’ รัศมี24ตร.กม. ชี้ไม่พบซากภายใน5วัน ถือว่ารอด

ความคืบหน้ากรณีเรืออวนลาก “แสงสมุทร 3” หมายเลขทะเบียน 2283 04242 ลักลอบนำฉลามวาฬ ขนาดน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 7 ตัน ขึ้นเรือ โดยใช้เชือกผูกหางแล้วโยงขึ้นไปบนกระโดงเรือ แต่กลุ่มนักดำน้ำและนักท่องเที่ยวพบเห็นระหว่างที่เรือแล่นผ่านเกาะราชากับเกาะเฮ จึงตะโกนร้องให้เรือประมงลำดังกล่าวปล่อยลงทะเล แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของฉลามวาฬตัวดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้นำคณะลงพื้นที่ไปยัง จ.ภูเก็ต เพื่อร่วมกับสำนักงานบริหาร ทช.ที่ 9 (ภูเก็ต) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ลงเรือออกไปสำรวจในพื้นที่เกิดเหตุเพื่อติดตามฉลามวาฬตัวดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

นายจตุพร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจว่า ได้วางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ติดตามหาฉลามวาฬตัวดังกล่าว โดยขีดวงจากจุดเกิดเหตุในรัศมี 24 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) พร้อมทั้งใช้โดรน เรือ และเครื่องมือตรวจหาวัตถุใต้น้ำ (โซนาร์) ตามหาซากของฉลามวาฬตัวดังกล่าว วันละ 2 ช่วงเวลา ซึ่งจากการติดตามในวันนี้ ยังไม่พบซากของฉลามวาฬแต่อย่างใด

“โดยธรรมของฉลามวาฬนั้น หากตายจะลอยน้ำภายใน 5 วัน หลังจากเกิดเหตุเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ก็กินเวลาไป 2 วันแล้ว ยังไม่พบซาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะร่วมกันค้นหาซากไปจนกว่าจะครบ 5 วัน ถ้าภายใน 5 วัน ยังไม่พบเห็นซากของฉลามวาฬตัวนี้ ก็สันนิษฐานได้ว่าฉลามวาฬยังมีชีวิตอยู่ แต่หากค้นไปแล้วพบซากก็ต้องนำกลับมาตรวจวิเคราะห์ต่อไป” นายจตุพร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากการติดตามดูคลิปที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ยังกังวลว่าฉลามวาฬอาจไม่รอด เพราะจากภาพมีการจับฉลามวาฬโยงกับสลิง ซึ่งฉลามวาฬนั้นเป็นสัตว์ที่โครงสร้างกระดูกอ่อน เกรงว่าระหว่างนั้นจะได้รับบาดเจ็บ หากไม่ตายทันทีก็ต้องบาดเจ็บมาก แต่จะชัดเจนว่าตายหรือไม่ตายก็ต้องรอเวลาว่าจะพบเห็นซากของฉลามวาฬหรือไม่ต่อไป

Advertisement

สำหรับทางด้านคดีนั้น นายจตุพร กล่าวว่า หลังจาก ทช.และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับเรือประมง 2 ลำ พร้อมกัปตันและลูกเรือรวม 17 คน ในข้อหาทำผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 66 ฐานนำสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือประมง ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 3 แสน – 3 ล้านบาท และมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ฐานล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทนั้น ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการ และทั้ง ทช.และกรมประมงก็พร้อมเข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image