หมอชนบทจวกก.คลัง ทำระเบียบไม่ชัด ด้านรพ.ขึ้นป้ายค้านทั่ว แชร์ว่อนโซเชียลฯ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ  กรรมการชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงกรณีผลการหารือระหว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลังต่อระเบียบกระทรวงการคลังเรื่องการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณ เบื้องต้นไม่ทบทวน แต่ระบุเพียงว่าเป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากระเบียบนี้ไม่กระทบแน่นอน ว่า ระเบียบดังกล่าวมีความคลุมเครือมาก เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าครอบคลุมอย่างไร เพราะพิจารณาตามเนื้อหา ไม่ว่าลูกจ้างหรือพนักงานคนเก่าคนใหม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากทุกวันที่ 30 กันยายนจะเป็นช่วงสิ้นปีงบประมาณ ที่ต้องมีการต่อสัญญาลูกจ้างอยู่แล้ว  ซึ่งปกติจะจ้างคนเดิมในการทำงานต่อ โดยจะมีการแจ้งขออนุมัติไปทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ในการจ้างบุคลากรล่วงหน้าอยู่แล้ว

“ปัญหาคือ เมื่อระเบียบนี้ออกมา ยกตัวอย่างว่า เดิมทีหากวันพรุ่งนี้หมดสัญญาจ้าง วันรุ่งขึ้นเราก็ต่อสัญญาจ้างใหม่  แต่ถ้าระเบียบนี้บังคับใช้เราก็ต้องทำเรื่องขอทางกระทรวงการคลัง หากไม่อนุมัติ ลูกจ้างก็ไม่ได้ทำงาน ตกงาน หรือหากอนุมัติก็ต้องรอ อาจเป็นเดือนๆ ถามว่าทำให้ยิ่งล่าช้ายุ่งยากหรือไม่ และมีแนวโน้มไม่อนุมัติก็มี เพราะเชื่อว่ากระทรวงการคลังไม่เข้าใจบริบทการทำงานของโรงพยาบาล เนื่องจากภาระงานเยอะมาก แต่งบประมาณจ้างก็น้อย ที่สำคัญอย่าลืมว่า การจ้างพนักงานกระทรวงหรือลูกจ้างในส่วนสาธารณสุข ยังมีสายวิชาชีพ อย่างนักกายภาพ นักเทคนิก อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวมาก็ยังรอการบรรจุ ระหว่างรอก็ต้องทำสัญญาจ้างเป็นทั้งพนักงาน ทั้งลูกจ้างก็มี แบบนี้ก็กระทบไปอีก จึงอยากให้คิดดีๆ ก่อนออกระเบียบ และหากไม่ใช่ก็ต้องมีระเบียบที่ชัดเจน เพราะระเบียบอันเดิมที่ทำให้เกิดความกังวลได้ประกาศไปแล้ว” นพ.สุภัทร กล่าว

วันเดียวกัน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทและผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   เรื่อง ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบ ในการออกระเบียบด้วยวิถีคิดที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงด้วยการลาออก  โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังได้ออกระเบียบดังกล่าว ทางชมรมฯ

ขอทำความเข้าใจกับสาธารณะว่า  1.ปริมาณงานในด้านการดูแลสุขภาพของทุกโรงพยาบาลเพิ่ม แต่กระทรวงการคลังไม่เข้าใจสถานการณ์จริง อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขคือ กระบวนการบริหารภาครัฐเองที่ไร้ประสิทธิภาพ มุ่งเน้นแต่จะควบคุมพันธนาการด้วยระเบียบหยุมหยิมที่ไร้สาระ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของรัฐบาลว่า “ปากก็พูด 4.0 แต่พฤติกรรม 0.4”

Advertisement

2.การระเบียบนี้เท่ากับเป็นการรวบอำนาจการพิจารณากลับสู่กระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะนี่ไม่ใช่เงินงบประมาณ แต่เป็นเงินบำรุงที่โรงพยาบาลเก็บหอมรอบริบ เป็นเงินบริจาค เงินทอดผ้าป่า การคุมเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายโรงพยาบาล 3.เงินนอกงบประมาณนั้น โรงพยาบาลไม่ได้ใช้จ้างเฉพาะลูกจ้างทำความสะอาดหรือพนักงานเปลเท่านั้น โรงพยาบาลต่างๆใช้จ้างตั้งแต่แพทย์ เภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และวิชาชีพต่างๆด้วย เมื่อลูกจ้างทุกประเภททุกวิชาชีพลาออกหรือเมื่อโรงพยาบาลจะขยายงานคงต้องรอกันหลายเดือน ทั้งๆที่ความจริง รอหนึ่งสัปดาห์ก็สาหัสแล้ว และ 4.การรวบอำนาจเช่นนี้ คนที่เดือดร้อนแสนสาหัสจะเป็นทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ที่ต้องเผชิญความเครียดจากระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

“ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบ ในการออกระเบียบด้วยวิถีคิดที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงด้วยการลาออก และขอให้ภาคประชาชนร่วมกันกดดันเพื่อสร้างระบบการบริหารประเทศที่มีธรรมาภิบาลกว่านี้ต่อไป” แถลงการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแถลงการณ์ของ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข สมาคมหมออนามัย และมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย  เรื่องขอให้ทบทวนระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ  เนื่องจากหากออกระเบียบดังกล่าวจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ได้แก่โรงพยาบาลศูนย์  26 แห่ง  โรงพยาบาลทั่วไป 69 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน720 แห่ง  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 9,775 แห่ง เพราะหากเป็นไปตามระเบียบจะทำให้การว่าจ้างล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน หรืออาจไม่ได้รับการอนุญาตกำลังคนดังกล่าวในการมาให้บริการประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีบางโรงพยาบาลได้ขึ้นป้ายคัดค้านประกาศดังกล่าว และโพสต์ในโซเชียลฯ และผ่านเพจชมรมแพทย์ชนบท เช่น รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก รพ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น รพ. พนม จ.สุราษฎร์ธานี รพ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย รพ.รามัน จ.ยะลา เป็นต้น ขึ้นป้ายไว้อาลัย ระบุว่า “รพ.ชาติตระการ ขอไว้อาลัย กระทรวงการคลังที่ออกระเบียบ ห้ามโรงพยาบาลห้ามจ้างลูกจ้าง ห้ามขึ้นเงินเดือนลูกจ้าง” อย่างไรก็ตาม มีการประกาศกันในโซเชียลฯว่า หากกระทรวงการคลังไม่มีความชัดเจน จะรวมตัวกันไปหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว ลงนามโดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ได้มีการเซ็นอนุมัติระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ้างพนังงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยที่เป็นการสมควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทวง ทบวง กรม  พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 ประกอบกับมติครม.เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 และมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐในการประชุม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 กระทรวงการคลังจึงวางระเบียบ ไว้ดังนี้

  1. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 2.ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป 3. ใช้ระเบียบนี้ “เงินนอกงบประมาณ” หมายความว่า บรรดาเงินทั้งปวงที่ส่วน ราชการจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือจากนิติกรรมหรือนิติเหตุ หรือกรณีอื่นใดที่ต้องนำส่งคลัง แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง

4.ในส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ กรณีได้ดำเนินการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณก่อนระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังไว้เป็นการเฉพาะให้ส่วนราชการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างต่อไปได้ตามกำหนดระยะเวลาเดิม และเมื่อพนักงานหรือลูกจ้างลาออกหรือส่วนราชการหมดความจำเป็นในการจ้างให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้างนั้น  5.ในกรณีส่วนราชการมีความจำเป็นต้องจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน โดยต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

6.ระยะเวลาการจ้างให้จ้างได้ไม่เกินปีงบประมาณ หรือตามเวลาที่กระทรวงการคลังอนุญาต สำหรับอัตราค่าจ้าง ให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตำแหน่งและวุฒิและไม่มีการเลื่อนขั้นค่าจ้าง  7.ให้ส่วนราชการรายงานการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง ทั้งจำนวนอัตราและจำนวนเงินค่าจ้างให้กรมบัญชีกลางทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ หรือสิ้นระยะเวลาการจ้างที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง โดยให้รายงานภายใน 30 วัน นับจากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว และ8.ให้ปลัดกระทรวงการคลังรักษาการตามระเบียบนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image