(คลิป) ปิดฉาก ‘สุนัขจรจัด’ ชินเขต2 กทม.ย้ายเกลี้ยงร้อยกว่าตัว-คนเลี้ยงไปด้วย

กระแสข่าวโรคพิษสุนัขบ้า หรือ “โรคหมาบ้า” ค่อนข้างแรง ทำให้ชาวบ้านทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กทม.) อกสั่นขวัญผวาไปตามกัน พื้นที่ไหนมีสุนัขเยอะก็อยากให้หน่วยงานมาช่วยกำจัด โดยเฉพาะย่านชินเขต 2 ที่ชาวบ้านร้องเรียนไปถึง กทม.และสื่อมวลชนว่า มีคู่สามี-ภรรยาเลี้ยงสุนัขมากกว่า 100 ตัว แต่ปล่อยให้อยู่แบบจรจัด ก่อเหตุรบกวนเดือดร้อน สร้างความสกปรก ไม่ปลอดภัย และเกรงจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อและแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ จึงขอให้ กทม.ไปช่วยจัดการปัญหา

นำมาสู่การแก้ไขของ กทม. โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม มีการเคลื่อนย้ายสุนัขในพื้นที่ดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น โดย “นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์” รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย “น.ส.ปัญชพัฒน์ หลักดี” ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ “นสพ.ศิวะ ไม้สนธิ์” หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมและพักพิงสุนัข สำนักอนามัย กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามการเคลื่อนย้ายสุนัขจรจัดจำนวนกว่า 100 ตัว ที่บริเวณซอยงามวงศ์วาน 47 (ซอยชินเขต 2) แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างยากลำบาก เพราะเกิดฝนตกหนักในช่วงเช้า

Advertisement

นายทวีศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พบมีฝูงสุนัขอยู่จำนวนมากจริง จึงได้เจรจากับนายผลัด กัณทะวงศ์ หรือ “ลุงแก้ว” อายุ 53 ปี และ น.ส.กัลยาณี เจริญสุข หรือ “ป้าขวัญ” อายุ 47 ปี สามีและภรรยาผู้ดูแลสุนัข จะขอย้ายไปดูแลในพื้นที่อื่น

“จากการพูดคุยเบื้องต้นมีจำนวนสุนัขที่ดูแลประมาณ 100 กว่าตัว สุนัขทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำหมันแล้ว ยกเว้นกลุ่มสุนัขประมาณ 7-10 ตัว ที่ยังไม่ได้ทำหมันเพราะมีอายุน้อย สำหรับการเลี้ยงดูนั้น ผู้ดูแลมีวิธีเลี้ยงแบบปล่อย ไม่มีรั้วหรือคอกกั้น ทำให้สุนัขเพ่นพ่านอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ส่วนการให้อาหารสุนัขพบมีผู้ใจบุญและกลุ่มรักสัตว์ในพื้นที่นำอาหารมาให้เป็นประจำ อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบสุนัขจำนวนมาก กทม.เกรงว่าสุนัขอาจทำร้ายประชาชนและเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น” นายทวีศักดิ์กล่าว

Advertisement

นายทวีศักดิ์เล่าว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย เคลื่อนย้ายสุนัขทั้งหมดไปดูแลยังศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมและกว้างขวางสามารถรองรับสุนัขได้ หลังการเจรจาจนได้ข้อยุติ กทม.จึงได้จัดกรงเลี้ยงสุนัขขนาดใหญ่ รองรับสุนัขได้ประมาณ 800 ตัว มีอาหารสัตว์และทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

“นอกจากเคลื่อนย้ายสุนัขแล้ว กทม.ยังได้ให้ลุงแก้วและป้าขวัญย้ายไปพำนักที่ศูนย์พักพิงสุนัข กทม. อ.ทัพทันด้วย เนื่องจากทั้งคู่มีความผูกพันกับสุนัขมาก ประกอบกับพื้นที่ที่อาศัยเป็นพื้นที่ของเอกชน ในอนาคตทั้งคู่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เช่นกัน กทม.จึงเสนอให้ทั้งคู่ไปช่วยดูแลสุนัข โดยจัดหาที่อยู่ให้พร้อมจ้างป้าแก้วเป็นพนักงานดูแลสุนัขในศูนย์พักพิง ค่าจ้างวันละ 320 บาท ส่วนลุงขวัญอยู่ระหว่างพิจารณาจ้าง” นายทวีศักดิ์กล่าว

ถือว่า กทม.สามารถปิดตำนานสุนัขซอยชินเขต 2 ได้สมบูรณ์ โดยครั้งแรก กทม.สามารถเคลื่อนย้ายสุนัขได้ 77 ตัว และครั้งนี้ย้ายอีกประมาณ 80-100 ตัว

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ในการเคลื่อนย้ายนั้น กทม.ไม่ใช้วิธีรุนแรง ไม่มีการทารุณสัตว์หรือทำลายสัตว์ แต่มีวิธีการนำสัตว์ไปดูแลตามขั้นตอน โดยมีทีมสัตวแพทย์ร่วมงานใกล้ชิด อาทิ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมัน กำจัดเห็บหมัด ให้อยู่ในกรงที่สะอาด ฯลฯ และมีทีมฝึกสัตว์เลี้ยง โดยจะให้ผู้ดูแลสุนัขมีส่วนร่วมในการฝึกสัตว์ด้วย สุนัขที่ กทม.เคลื่อนย้ายไปตั้งแต่ครั้งแรกทุกตัวสุขภาพดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า กทม.สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในพื้นที่ 6 เขตที่มีสัตว์ติดเชื้อเดิม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานจำนวนสุนัขติดเชื้อเพิ่มเติม นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ถือเป็นตัวเลขที่ กทม.ควบคุมได้ แต่ไม่น่าพอใจ ทั้งนี้ กระแสตื่นตัวในปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ประชาชนร่วมมือในการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ซึ่งเดิม กทม.ได้จัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัคซีนสำหรับปี 2561 ไว้ประมาณ 250,000 โดส แต่ขณะนี้เริ่มไม่พอ ล่าสุด กทม.จึงได้จัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัคซีนสำรองอีก 200,000 โดส คาดว่าจะได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

“ขณะนี้ทราบข่าวว่ามีผู้ขอบริจาคเงินเพื่อซื้อดินสำหรับเลี้ยงสุนัข แต่ กทม.แจ้งว่าเป็นการดำเนินการไม่ถูกวิธี เพราะขั้นตอนในการดูแลสัตว์นั้นควรมีระบบและวิธีการที่ควรจะเป็น” นายทวีศักดิ์กล่าว

ป้าขวัญ

ด้านป้าขวัญ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสุนัขจำนวน 100 กว่าตัว ว่าเป็นคนรักสัตว์ เมื่อเห็นสุนัขอยู่ข้างทางก็จะให้อาหารเป็นประจำ เพราะสงสาร ครั้งแรกเริ่มเลี้ยงเพียง 7 ตัว โดยอาศัยขอข้าววัดมาเป็นอาหาร จากนั้นก็เริ่มมีคนใจบุญและกลุ่มรักสัตว์เข้ามาช่วยเหลือและให้อาหาร ทำให้สุนัขเริ่มขยายจำนวนมากขึ้น บางส่วนมีคนแอบนำสุนัขมาปล่อยตอนกลางคืน ขณะที่นอนหลับอยู่ ตื่นเช้ามาก็ตกใจ แต่ด้วยความสงสารก็รับเลี้ยงไว้มากว่า 10 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันมีสุนัขที่ดูแลจำนวนมาก ส่วนค่าใช้จ่ายอาหารส่วนใหญ่จะมาจากคนใจบุญมาช่วยจุนเจือ ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่เคยมาแจ้งหรือบอกโดยตรงว่าได้รับความเดือดร้อนจากสุนัข

“สาเหตุที่ต้องเลี้ยงแบบปล่อยเพราะมีสุนัขจำนวนมาก บางส่วนพยายามเลี้ยงไว้ในกรง แต่กรงมีจำนวนจำกัด ทำให้ที่เหลือก็ต้องเลี้ยงแบบปล่อย อยากฝากบอกถึงคนอยากเลี้ยงสัตว์ หากดูแลไม่ได้ ไม่ควรซื้อหรือหามาเลี้ยง เพราะเมื่อไม่เลี้ยงและไม่รักแล้วก็จะนำมาปล่อย ทำให้เป็นภาระสังคม ป้าเองแม้ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่มีจิตใจรักสัตว์และสงสารสัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง จึงนำมาเลี้ยง ซึ่งที่ผ่านมาสัตว์ที่เลี้ยงไม่เคยกัดใคร” ป้าขวัญกล่าว

มาถึงจุดนี้ บอกได้คำเดียวว่า ถ้า “รัก” จะเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องเลี้ยงอย่างรับผิดชอบด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image