ทช.กำชับทุกหน่วย สำรวจเข้มยกกรณีศึกษาแก้ปัญหา ก่อนประกาศใช้ ม.17 เกาะเต่า-เกาะพะงัน-เกาะมุย

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงการดำเนินการหลังร่วมลงนามกับ 22 หน่วยงาน ตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะพะงัน อ.เกาะพะงันและเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ตามที่ทช.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงนามรับทราบบันทึกข้อตกลงในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไว้มากกว่า 10 เรื่อง ล่าสุด พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจรัตน์ รัฐมนตรีทส. ได้กำชับก่อนประกาศใช้มาตรา 17 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจว่าได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างไรบ้างแล้วที่เกี่ยวข้องกับ 10 เรื่องนั้น ล่าสุด แม่ทัพภาคที่ 4 ได้จัดประชุมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม โดยที่ประชุมได้สรุปว่ามีบางเรื่องยังไม่่สามารถใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ จึงได้ให้หน่วยงานเร่งสรุปผลและรายงานต่อทช.เพื่อนำมาพิจารณาในการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง กรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนเด็ดประการังเพื่อนำมาถ่ายรูปที่เกาะเต่า หากบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์กระบวนการดำเนินคดีค่อนข้างล่าช้า แต่ถ้าใช้มาตรา 17 ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที กรณีท่าเทียบเรือบริเวณเกาะเต่า ในที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันมีมติให้จัดท่าเรียบเรือที่กระจัดกระจายให้เรียบร้อย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา (กก.) จะร่วมสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจะทำให้การบริหารจัดการทะเลและชายฝั่งเป็นสััดส่วน

นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนเรื่องสัตว์ทะเลหายาก อาทิ กรณีเรือประมงจับฉลามวาฬ จ.ภูเก็ต ตนอยากให้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายและยืนยันจะไม่้ให้เกิดกรณีดังกล่าวอีก ทุกวันนี้ทุกคนต้องเข้าใจร่วมกันว่าสัตว์ทะเลไม่ได้เป็นสัตว์น้ำพบได้ง่ายหรือจู่ๆ จะพบได้ ดังนั้น ทช.จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดดูแลสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งล่าสุดทางจังหวัดจะจัดประชุมเพื่อเชิญมัคคุเทศน์ทั้งหมดมาร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวรบกวนสัตว์ทะเลหายาก เพื่อให้มัคคุเทศน์บอกต่อข้อมูลที่ได้รับจากคู่มือสำหรับท่องเที่ยวของทช. ป้องกันปัญหาทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง อยากจะฝากถึงมัคคุเทศน์และนักท่องเที่ยวให้มีความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ทช.เป็นห่วงมาก ส่วนกรมประมงนั้นทช.จะร่วมพูดคุยหารือถึงมาตรการป้องกันเรือประมงจับสัตว์ทะเลหายาก

นายจตุพร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีตามกฎหมายกรณีฉลามวาฬได้มีการแจ้งความกับเรือประมงเพื่อดำเนินทางกฎหมาย 2 ข้อหา คือ พระราชกฤษฎีกาประมง ปรับสูงสุด 3 ล้านบาทและพ.ร.บ.สัตว์สงวน พ.ศ 2535 จำคุกไม่เกิน 4 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่พบซากฉลามวาฬตัวดังกล่าว หากพบซากแล้วจะพิสูจน์ทราบถึงสาเหตุการตายและแจ้งข้อหาผู้กระทำผิดเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image