สภากทม.ซัดหอศิลป์ฯบริหาร ไม่โปร่งใส

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม นายภาส ภาสสัทธา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เสนอญัตติต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่อง ขอให้สภากทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญการศึกษาการดำเนินการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดำเนินงานของหอศิลป์ฯ เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เดิมกทม.มีแนวคิดให้หอศิลป์ฯ บริหารงานโดยไม่ยึดติดรูปแบบระบบราชการ จึงให้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้ามาบริหารเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและบริหารจัดการอย่างอิสระ สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยใช้งบประมาณกทม.สนับสนุนเท่าที่จำเป็น ภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกทม.และมูลนิธิหอศิลป์ฯ แต่ที่ผ่านมามูลนิธิหอศิลป์ฯ ขอรับการสนับสนุนของกทม.ปีละหลาย 10 ล้านบาทผ่านสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว โดยสภากทม.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบงบฯ ในแต่ละปี

“พบการบริหารจัดการของมูลนิธิหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรภายนอกยังไม่มีความชัดเจนในการใช้จ่ายงบประมาณว่าคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร ทำให้งบฯ ที่ผ่านมาสภากทม.ไม่อาจพิจารณาปัจจัยเห็นชอบอนุมัติงบฯได้ จึงเห็นควรตั้งคณะกรรมการศึกษาการดำเนินการของหอศิลป์ฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่าและโปร่งใส่ เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างชัดเจน” นายภาส กล่าว

พล.อ.โกจนาท จุณณะภาต ส.ก.กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดตั้งหอศิลป์ฯ ระบุต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทม.ได้สนับสนุนงบให้แก่หอศิลป์ฯ ไม่มีการเก็บค่าเข้าชมผลงานทางศิลปะ ข้อเท็จจริงแล้วมูลนิธิหอศิลป์ฯ จะต้องบริหารจัดการใหม่ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องรับการสนับสนันงบจากกทม.

ส่วนนายคำรณ โกมลศุภกิจ ส.ก.กล่าวว่า หอศิลป์ฯ ได้รับงบจากกทม.ปีละ 40 ล้านบาท รวมค่าน้ำและค่าไฟ อีกทั้งพบว่ามีการใช้งบประมาณจ่ายเป็นค่าเดินทางให้กับหน่วยงานอื่น ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานกทม.กว่าร้อยละ 50 ซึ่งการจ่ายเงินให้กับหน่วยงานภายนอกไม่ใช้หน่วยงานภายใต้โครงสร้างของกทม. อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 96 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกทม. พ.ศ.2528 กรณีจำเป็นกทม.อาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกทม.และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนกทม.ต้องผ่านความห็นชอบจากสภากทม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2554 กทม.ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่

Advertisement

ด้านนายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ ส.ก. กล่าวว่า หอศิลป์ฯ ถือเป็นทรัพย์สินของกทม. เพราะก่อสร้างด้วยงบประมาณของกทม.ที่มาจากภาษีประชาชน โดยก่อสร้างในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาทและการให้ผู้ใดใช้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือองค์กรต่างเป็นหน้าที่กทม. ตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน กทม.ได้อนุมัติงบจำนวนมาก แต่กทม.ตระหนักดีว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มาจากภาษีของประชาชนจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่างไรก็ตาม การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อพิจารณาดูแลมีความไม่ชัดเจนและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการไม่สอดคล้องกับฉบับปัจจุบัน

“ข้อตกลงในข้อ 10 ระบุกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามผู้ให้สิทธิ ผู้ให้สิทธิสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และจะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายชดเชยใดๆจากผู้ให้สิทธิทั้งสิ้น และในสัญญานี้ กทม.ไม่ได้มีสิทธิให้เงินสนับสนุนแต่อย่างใด ซึ่งมูลนิธิหอศิลป์ฯ ต้องดำเนิการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เกิดรายได้ขึ้นเอง ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาให้ครอบคลุมอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน” นายเชนทร์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image