กทม.เฝ้าระวังไข้เลือดออก ‘หนองจอก’ ตายแล้ว 1 ราย

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ทุกหน่วยบูรณาการทุกภาคส่วนป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต โดยจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์ฆ่ายุงลายทุก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 และปีนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม

นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม-วันที่ 21 พฤษภาคม พบมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 2,399 ราย คิดเป็นอัตราป่วยสะสม 42.22 รายต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศ พบว่าอยู่ในลำดับที่ 10 ฉะนั้น กทม.จึงต้องประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออกต่อเนื่อง โดย 1.จัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว 70 ทีม ควบคุมโรคพื้นที่ที่พบการระบาด โดยจะร่วมกับประชาชนกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายในบ้านผู้ป่วย บริเวณรอบบ้าน รวมทั้งพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยในรัศมี 100 เมตร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2.เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ตรวจจับการระบาดของโรคในพื้นที่ด้วยการประเมินดัชนีลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ต่างๆ เช่น ชุมชน โรงเรียน สถานพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งประสานงานและสื่อสารสถานการณ์โรคไข้เลือดออก 3.สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการดำเนินการตามหลัก 5 ป. คือ ปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัยและดูแลตนเองและคนที่คุณรักไม่ให้ถูกยุงกัด

ด้าน นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม.กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ประจำปี 2561 ว่า พบจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ในเดือนเมษายนพบผู้ป่วย 615 ราย เดือนพฤษภาคม 307 ราย เมื่อพิจารณารายพื้นที่ในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด เขตที่มีการระบาดหลายแขวง คือ เขตหนองจอก มี 3 แขวง คือ แขวงหนองจอก แขวงโคกแฝด แขวงคู้ฝั่งเหนือ ประกอบกับในแขวงโคกแฝด เขตหนองจอก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และมีผู้ป่วย 2 ราย เป็นหลานที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยอีก 2 ราย เป็นเพื่อนบ้านอยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองจอก ทำให้ กทม.ต้องดำเนินการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ส่วนเขตที่มีพื้นที่ระบาด 2 แขวง คือ บางรัก ตลิ่งชัน สาทร จอมทอง และคลองสามวา นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เป็นพิเศษและเขตที่มีพื้นที่ระบาด 1 แขวง คือ มีนบุรี ลาดกระบัง ยานนาวา บางกอกใหญ่ ห้วยขวาง บางกอกน้อย ภาษีเจริญ หนองแขม ราษฎร์บูรณะ บึงกุ่ม บางคอแหลม ราชเทวี ลาดพร้าว และทวีวัฒนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image