“หนูบ้าน” ครองเมือง นักวิจัยขอโอกาส “นกแสก” กำจัดชี้ อย่ากลัว เกิดมาเพื่อพิฆาตหนูโดยเฉพาะ(คลิป)

หนูบ้านครองเมือง ไม่มีวิธีกำจัด นักวิจัยชี้ เครื่องมือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไล่หนู หลอกลวง อย่าไปเชื่อ เสียเงินเปล่า ขณะที่นกแสกที่เกิดมาเพื่อฆ่าหนูโดยเฉพาะ 1ตัวกินหนูได้ปีละ 700 ตัว กลับถูกคนรังเกียจหาว่าเป็นนกมรณะ เผยงานวิจัยเลี้ยงนกแสกกำจัดหนูในสวนปาล์มภาคใต้ได้ผล100% บ้านใกล้สวนปาล์ม หนูพลอยหายไปด้วย

วันที่ 2 มิถุนายน นายเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ อาจารย์พิเศษคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยผู้ศึกษาและเชี่ยวชาญเรื่องนกแสกในประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษาและทำวิจัยเรื่องของนกแสก และหนูในประเทศไทยมากกว่า 20 ปี พบว่า ความหลากหลากของหนูในธรรมชาติจะเปลี่ยนไป หนูบางชนิดหายไป เช่น หนูนาเล็ก แต่จะมีหนูนาใหญ่เข้ามาแทน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่การเกษตรที่เป็นเขตชลประทาน แต่หนูที่เพิ่มปริมาณขึ้นมาอย่างน่ากลัวอย่างยิ่งคือ หนูที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ตามท่อระบายน้ำ แหล่งขยะ โดยหนูพวกนี้มีขนาดใหญ่กว่าหนูทั่วไป เพราะมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรงตายยาก มีศัตรูในธรรมชาติน้อย ที่สำคัญคือเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“คนอยู่ที่ไหน หนูก็จะสามารถตามไปอยู่ที่นั่นได้ทันที ในกลุ่มนักวิจัย เราพูดกันเล่นๆว่า เมื่อไหร่ที่หนูมีสมองครึ่งหนึ่งของมนุษย์ เมื่อนั้นพวกมันจะสามารถครองโลกได้ทันที เพราะแม้ประเทศจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วดีแค่ไหน แต่ตามซอกหลืบ ท่อระบายน้ำ บ่อขยะ แหล่งชุมชนก็ยังมีหนูอาศัยอยู่ทั้งสิ้น โดยที่หนูในเมืองซึ่งเป็นหนูที่อยู่กับแหล่งสกปรกหรือที่สะสมของเชื้อโรค ทำให้หนูพวกเต็มไปด้วยเชื้อโรคมากมาย ในอดีตหนูนำเชื้อโรคกาฬโรค และโรคอื่นๆทำให้คนตายมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมกัน จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่งหากหนูที่วิ่งพลุกพล่านอยู่ตามซอกหลืบ และในตลาด รวมทั้งแหล่งขยะต่างๆแพร่เชื้อโรค”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

Advertisement

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ทำวิจัยศึกษาเรื่องการเลี้ยงนกแสกในสวนปาล์ม เพื่อกำจัดหนูที่ออกมากัดกินลูกปาล์ม โดยทำในพื้นที่สวนปาล์มภาคใต้หลายจังหวัด เช่น กระบี่ ระนอง พังงา โดยได้เพาะเลี้ยงนกแสก แล้วสร้างรังให้อยู่ในสวนปาล์ม ผลปรากฏว่า เดิมที ที่เกษตรกรเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินค่าสารเคมีกำจัดหนูปีละรวมกันแล้วหลายล้านบาท แต่เมื่อเอานกแสก ซึ่งเป็นนกที่เกิดมาเพื่อกินหนูโดยเข้าไปเลี้ยงปรากฏว่าไม่ต้องจ่ายเงินค่าสารเคมีเพื่อปราบหนูแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งบ้านเรือนของเกษตรกร ที่อาศัยอยู่ใกล้สวนปาล์มที่เลี้ยงนกแสก ไม่มีปัญหาเรื่องการถูกหนูเข้าไปรบกวนในบ้านเลย โดยในเวลา 1 ปี นกแสก 1 ตัว จะกินหนูได้มากถึง 700 ตัวด้วยกัน

“แต่ด้วยรูปร่างหน้าตา และความเชื่อที่มีมานานว่านกแสกเป็นนกที่นำเอาโชกร้ายมาให้ บ้านเรือนไหนที่มีนกแสกบินผ่านบ้านนั้นจะโชคร้าย ทำให้คนเราตั้งข้อรังเกียจนกแสก หาทางฆ่า หาทางทำลายจนเวลานี้ปริมาณนกแสกในธรรมชาติเหลืออยู่น้อยมาก เรากำลังจะเห็นมิตรเป็นศัตรู ซึ่งเราพบว่า ความกลัวของคนนั้นสอดรับกับพฤติกรรมของนกแสก นั้นคือ บ้านไหนที่สกปรก และมีหนูอาศัยอยู่ มันจะบินไปเกาะตามซอกหลืบเสาบ้าน คอยดักล่าหนูเป็นอาหาร โดยจะมาแบบเงียบๆ ไม่สังเกตก็จะไม่ค่อยเห็น หากไม่มีอะไรก็แล้วไป แต่เมื่อไรที่บ้านนั้นมีคนป่วย หรือตายก็จะโทษนกแสกทันที ไม่มีใครคิดว่าความตายนั้นอาจจะเกิดจากเชื้อโรคที่มากับหนู หรือเชื้อโรคอื่นๆก็ได้ แม้นกแสกจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ยังมีบางพื้นที่ในชนบท ขึ้นป้ายหน้าหมู่บ้านว่า การฆ่านกแสก เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยไม่มีความผิดแต่อย่างใด ทั้งๆที่โดยธรรมชาติแล้ว นกแสกเป็นนกที่น่าสงสารอย่างยิ่ง ไม่มีอำนาจและกำลังจะไปต่อสู้กับใครเลย แม้กระทั่งนกเอี้ยง นกกระจอก เคยมีรายงานว่ามันถูกนกเอี้ยง นกกระจอกรุมจิกจนตาย”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้แทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองยังไม่มีใครสามารถหาวิธีกำจัดหนูนำเชื้อโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จจริงจัง ทำได้แค่ชั่วครู่ชั่วคราว ไม่เคยทันการกับปริมาณหนู่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแม่หนู 1 ตัวตั้งท้องแค่ 25 วัน ออกลูกได้ไม่นานก็สามารถตั้งท้องใหม่ได้ทันที วิธีการจับหนูที่ทำกันคือ ใช้ยาเบื่อ ใช้กาวดักหนู หรือในปัจจุบันมีการขายเครื่องมือ ที่อ้างว่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไล่หนู ไม้ไล่หนู ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ ไม่สามารถใช้ไล่ทั้งหนูทั้งแมลงได้จริงตามโฆษณาเลย

“เพื่อนฝูง คนใกล้ชิดหลายคน ก็หลงซื้อเครื่องมือชนิดนี้มาหลายคนแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ผล ขณะที่ศัตรูหมายเลข 1 ที่มันเกิดมาเพื่อกินหนูโดยเฉพาะอย่างนกแสก ก็ยังเป็นที่หวาดกลัว หวาดระแวงของผู้คน อย่างไรก็ตามเวลานี้เกษตรกรชาวสวนปาล์มในหลายพื้นที่ของภาคใต้ต่างยอมรับในศักยภาพของนกแสกในการกำจัดหนูแล้ว เพราะในยะระเวลา 5-6 ปี ที่ผ่านมา มีการเพาะพันธุ์นกแสกไปเลี้ยงในสวนปาล์ม และเห็นผลอย่างชัดเจนว่า หนูลดลง”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image