กรมป่าไม้เชิญผู้เชี่ยวชาญปลูกป่าจากญี่ปุ่นมาร่วมพลิกฟื้นเหมืองผาแดง

น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมป่าไม้ โดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ จะฟื้นฟูป่าบริเวณพื้นที่เหมืองผาแดงซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด จ.ตาก โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริกับคณะผู้บริหารกรมป่าไม้ ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ จ.ตาก ระหว่างที่ 18 – 22 ธ.ค.2559 เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณเหมืองผาแดง โดยให้ทำการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ หรือการปลูกป่าแบบมิยาวากิซึ่งจะเป็นแนวทางใหม่ในการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพทางนิเวศของสังคมป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยเร็ว และให้เชิญ ศ.ดร.ซุนจิ มูไร และคณะ Regreen movement (RGM) มาร่วมปลูกต้นไม้ในโครงการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศด้วย

ด้านนายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า สำหรับการปลูกป่าแบบมิยาวากิ อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ได้คิดค้นการปลูกป่านิเวศ และเข้ามาปลูกครั้งแรกที่สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งพบว่าต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีจากนั้นจึงขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ 1.พันธุ์ไม้ที่ปลูก ต้องเป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นตามธรรมชาติ 2.ปลูกแบบไม่เป็นแถวเป็นแนว ตารางเมตรละ 3-4 ต้น เพื่อให้ต้นไม้แข่งกันโต และเกิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติตามทฤษฏีของชาล ดาร์วิน ที่ว่า The stronger must be survice 3.ใช้ฟางข้าวคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นให้ต้นไม้ 4.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นปุ๋ยธรรมชาติรองก้นหลุม เพื่อช่วยในการเติบโต

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า สำหรับการปลูกป่าเชิงระบบนิเวศหรือการปลูกป่าแบบมิยาวากิ ได้ปลูกฟื้นฟูป่าบริเวณพื้นที่เหมืองผาแดงซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด บนพื้นที่ จำนวน 10 ไร่ ใช้ต้นไม้ในการปลูกไร่ละ 4,000 – 6,000 ต้น ชนิดพันธุ์ไม้ที่ปลูกเป็นไม้พื้นถิ่นตามธรรมชาติ เรือนยอดเด่น ได้แก่ ยางนา สัก แดง ประดู่ และพะยูง เรือนยอดรอง ได้แก่ คูน พฤกษ์ อินทนิน หว้า มะขามป้อม ปีบ สำโรง เพกา และเสลา เมื่อใช้วิธีการดังกล่าว ในระยะเวลา 1 ปี ต้นไม้จะเจริญเติบโตเร็ว มีขนาด 2 – 3 เมตร ไม้โตช้าจะมีขนาด 1 – 2.5 เมตร ดังนั้น การปลูกป่าในครั้งนี้ถึงแม้จะปลูกบนพื้นที่เพียง 10 ไร่ แต่เราจะใช้กล้าไม้ในการปลูกถึง 40,000–60,000 ต้น ซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์และสร้างระบบนิเวศให้กลับคืนมาอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image