4 เดือน ‘ทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย’ 7.4 แสนครั้ง สปส.จ่ายกว่า 500 ล.

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมให้กับผู้ประกันตน ที่ สปส.ได้พัฒนาระบบบริการจัดการตามโครงการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาด้านทันตกรรมโดยที่ไม่ต้องสำรองจ่ายว่า ล่าสุดเดือนมกราคม-เมษายน 2561 มีผู้ประกันตนมาใช้บริการระบบทันตกรรมประกันสังคมแบบไม่ต้องสำรองจ่าย” มียอดแล้วกว่า 742,950 ครั้ง สปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 501,044,620.07 ล้านบาท

“สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความพึงพอใจในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน และจากข้อมูลตัวเลขผู้ประกันตนที่มาใช้บริการกรณีทันตกรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจำนวนการใช้สิทธิของผู้ประกันตนมีปริมาณที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อย เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นระบบจ่ายตรงแล้ว พบว่ามีผู้ประกันตนที่ไม่เคยไปรับบริการกรณีทันตกรรมเลย เนื่องจากไม่มีเงินสำรองจ่าย สามารถเข้ารับการบริการกรณีทันตกรรมได้เพิ่มมากขึ้น” นพ.สุรเดชกล่าว และว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลเอกชน/คลินิกเข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ประกันตน จำนวน 1,504 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย

นพ.สุรเดชกล่าวว่า ผู้ประกันตนใช้สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมในอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตนโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี สำหรับกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐาน ประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์

นอกจากนี้ นพ.สุรเดชกล่าวถึงกรณี น.ส.เกษรินทร์ สุวะมาตย์ เสียชีวิตจากการผ่าตัดคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใน จ.อำนาจเจริญ ว่าตรวจสอบแล้ว พบว่า น.ส.เกษรินทร์ เป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคม รวมทั้งหมด 129,896.08 บาท แบ่งเป็น 1.ค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 27,107.50 บาท 2.ค่าทำศพ 40,000 บาท 3.เงินสงเคราะห์กรณีตาย 18,813.20 บาท 4.เงินบำเหน็จชราภาพ 43,975.38 บาท ซึ่งจากนี้ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image