คพ.ตรวจโลหะหนักโรงงานขยะอันตราย หากพบสารพิษในสิ่งแวดล้อม เจอฟันแน่

เมื่อวันที่ 4 มิถุยายน ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวลด้อม นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดี คพ.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการลักลอบนำเข้าขยะพิษ ว่า คพ.ในฐานะศูนย์ประสานงานอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (อนุสัญญาบาเซล) ประเทศไทย จะร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร ตรวจสอบในกรณีที่มีการสำแดงเท็จเพื่อลักลอบนำเข้าขยะอันตราย โดยหากพบว่าเป็นการสำแดงเท็จก็จะเร่งกระบวนการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลการตรวจสอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรว่ามีจำนวนเท่าไร โดยบริษัทที่นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการในการขนย้ายทั้งหมด

อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า ส่วนขยะที่นำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะตรวจสอบว่ามีการกำจัดอย่างถูกวิธี และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยประสานงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม หากจัดการไม่ถูกต้องและมีการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ต่อไป นอกจากนี้ ในระยะยาวก็ต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันช่องโหว่ในการนำเข้าขยะอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาเรามีกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้ แต่มีปัญหาในการบังคับใช้ที่ไม่ทั่วถึง และไม่มีการติดตามว่านำเข้ามาแล้วเอาไปไว้ที่ไหนและดำเนินการอย่างไรต่ออย่างจริงจัง

นางสุณีกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 5-7 มิ.ย.นี้ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ. ฉะเชิงเทรา ศูนย์ควบคุมมลพิษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) จะลงพื้นที่โรงงาน 2 แห่ง ใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีปัญหาลักลอบนำเข้าขยะอันตราย เพื่อตรวจสอบการปล่อยมลพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถตรวจสอบสารอันตรายจำพวกโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ตะกั่ว โครเมียม ได้ทันที เพราะตรวจสอบวิเคราะห์ได้ไม่ยาก แต่สารบางอย่างอาจจะต้องส่งพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามถึงกรณีมีการระบุว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของการนำเข้าขยะอันตรายจากทั่วโลก นางสุณีย์กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็เคยส่งขยะอันตรายไปที่จีน แต่ในช่วงหลังประเทศจีนห้ามนำเข้าแล้ว ซึ่งไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายเดียวในการนำเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะอันตรายมากำจัด แต่มีกระจายกันไปทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำกรณีนี้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่ในการกระทำผิดกฎหมายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image