‘แม่บ้านออนไลน์’ จากสตาร์ตอัพ สู่การดูแลสังคม ธุรกิจใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ธุรกิจสตาร์ตอัพ หรือธุรกิจในศตวรรษที่ 21 การนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวหลักสำหรับการดำเนินงาน นับวันจะแพร่หลายเป็นที่ต้องการในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

อานนท์ น้อยอ่ำ บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยทำงานกับหมู่บ้านจัดสรรมาก่อน มองเห็นปัญหาของลูกบ้านในหมู่บ้านเกือบทุกที่ว่ามีเหมือนกัน คือขาดคนทำงานงาน ปัญหานี้รวมไปถึงหนุ่มสาวคนทำงานที่อาศัยคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ในเมืองหลายแห่งไม่มีเวลาเก็บกวาดที่อยู่อาศัยของตัวเอง เรียกว่าหนุ่มสาวรุ่นใหม่จำนวนมากโหยหาแม่บ้านทำความสะอาดก็ไม่ผิดนัก

ทีมงาน บีนีท (BeNeat) 

Advertisement

อานนท์และเพื่อนจึงมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจรวบรวมแม่บ้านทั่วประเทศไว้ในแอพพลิเคชั่น เพื่อให้บริการผู้ต้องการแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน หรือแม่บ้านออนไลน์ โดยได้เขียนโครงการเข้าไปปรึกษาที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับคำปรึกษา และสนับสนุนทั้งเรื่องเทคนิค การตลาด ให้ใช้พื้นที่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือสำหรับเปิดเป็นสำนักงานเพื่อทำงานจนสามารถเริ่มต้นกิจการได้

“เรารับสมัครแม่บ้าน คนทำงานบ้านในทุกพื้นที่ที่เราสามารถเปิดให้บริการได้ คือกรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี บางแสน พัทยา ศรีราชา เชียงใหม่ ระยอง ภูเก็ต ลำพูน ผมและทีมงานจะเดินทางไปสัมภาษณ์ทุกคนที่สมัครเข้ามาร่วมงานกับเรา ก่อนหน้าที่จะเรียกมาสัมภาษณ์นั้น ทุกคนต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ เช่น อายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีประวัติอาชญากรรม และต้องมีใบรับรองจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนในชั้นตอนการสัมภาษณ์นั้น หลักๆ เลยคือเราเน้นเรื่องทัศนคติในการให้บริการ เราไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เราเป็นผู้ให้บริการ หลังจากคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมได้แล้วเราก็มีคอร์สฝึกอบรมให้ 2 วัน หลังจากนั้นจึงเปิดให้บริการ ผู้ที่จะเข้ามาให้บริการก็ต้องโหลดแอพพลิเคชั่นชื่อ บีนีท (BeNeat) ภายในแอพพลิเคชั่นก็จะมีรายชื่อแม่บ้านในแต่ละพื้นที่ให้เลือก โดยแต่ละคนจะมีรายละเอียดส่วนตัวอยู่ รวมทั้งผลงานการทำงานที่ผ่านมาจากการรีวิวของผู้ที่เคยใช้บริการมาแล้ว เป็นเสมือนการการันตีการทำงานของคนคนนั้นด้วย” อานนท์กล่าว

 

Advertisement

ป้ารี

ในบรรดาแม่บ้านออนไลน์ที่ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นบีนีทนั้น อานนท์บอกว่า มีคนหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เธอคือ ป้ารี วัยห้าสิบกลางๆ ก่อนหน้านี้ป้ารีเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ไม่สบาย จึงต้องออกจากงาน และไปทำงานจัดเรียงหนังสืออยู่กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แล้วเห็นโฆษณารับสมัครพนักงานของบีนีทจึงมาสมัคร ป้ารีเป็นคนหนึ่งที่ถือว่า มีทัศนคติแห่งการทำงานบริการที่เยี่ยมยอดมาก จากเดิมทำงานจัดเรียงหนังสือพิมพ์เงินเดือนอยู่ที่ 9,000 บาท โดยที่ป้ารีต้องเลี้ยงแม่และพี่สาวที่ไม่สบายด้วย ตอนนี้ป้ารีมีรายได้จากการเป็นแม่บ้านออนไลน์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000 บาท

“คือผมอยากจะบอกว่าการทำงาน นอกเหนือจากที่เราใช้เรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรมคิดงานให้เข้ากับยุคสมัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะได้ตามมาเสมอ คือเรื่องของการดูแลสังคมควบคู่กันไปด้วย เพราะนอกจากป้ารีแล้วก็ยังมีเด็กๆ นักศึกษาที่สมัครเข้ามาทำงาน และมีทัศนคติตรงตามที่เรากำหนดเอาไว้จำนวนหนึ่ง เด็กเหล่านี้ก็จะมีโอกาสทำงานฝึกประสบการณ์ก่อนที่จะเรียนจบออกไปด้วย” อานนท์กล่าว

ทิพวัลย์ เวชชการัณย์

 

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สอว.จัดสัมมนาความร่วมมือระดับนานาชาติของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือและเยี่ยมชมกลไกการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังกลไกการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ

“สตาร์ตอัพ ธุรกิจแม่บ้านออนไลน์ ถือเป็นกิจการที่น่าสนใจและถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในเวลานี้ เป็นสตาร์ตอัพของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดสตาร์ตอัพภาคเหนือ ธุรกิจตัวนี้นอกจากสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีประสบการณ์ร่วมในงานบริการอีกรูปแบบหนึ่งด้วย” น.ส.ทิพวัลย์กล่าว

นอกเหนือจากแม่บ้านออนไลน์แล้ว สตาร์ตอัพ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือภูมิใจนำเสนอสำหรับธุรกิจที่กำลังมีแนวโน้มทางธุรกิจที่ดีถึงดีมากๆ อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารว่างจากกากชาหมักรูปแบบใหม่ “Kombucha” ที่นำวัสดุกากใบชาที่ได้จากขั้นตอนสุดท้ายของการหมัก จากเดิมเป็นของเหลือทิ้งจำนวนมาก นำมาคิดค้นวิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดย Kombucha สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ของเหลือจากกระบวนการผลิตชาหมัก และสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นมูลค่ากว่าล้านบาทต่อปี หรือ “สุภาฟาร์มผึ้ง” กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ดูแลใส่ใจสุขภาพโดยริเริ่มปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตจนได้น้ำผึ้งธรรมชาติระดับพรีเมียมไปสู่ผู้บริโภค

 

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ที่พร้อมส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถให้แก่ให้ผู้ประกอบการไทยทุกอาชีพที่มีไอเดีย โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความก้าวหน้าและช่วยให้ก้าวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราเปิดให้บริการให้คำปรึกษา แนะนำกับทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งพร้อมจะสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่สำหรับงานที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว” ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ กล่าว

 

กากชาหมัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image