คำถามถึง ‘อย.’ สู่การปฏิรูประบบเฝ้าระวังระยะยาว

ห้วงที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย นับตั้งแต่การออกมาประกาศว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง “เมจิกสกิน”  ที่อวดอ้างช่วยให้ขาวใส หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ลีน” ที่อ้างลดน้ำหนักจนมีผู้เสียชีวิต ซ้ำร้ายพบสารอันตรายคือ “ไซบูทรามีน”  ที่ปัจจุบันยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 มีโทษหนักหากใครผสมสารดังกล่าว ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท

แต่ก็ดูเหมือนจะมีการตรวจจับอีกมากมาย เห็นได้จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาแถลงร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจจับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านทางโซเชียลมีเดีย วิทยุโทรทัศน์ตามสื่อต่างๆ

ล่าสุด อย.ยังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา เข้าทำการตรวจสอบแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ชื่อ “เอเชีย สลิม”  (Asia Slim) ที่มีการจำหน่ายและโฆษณาผ่านทางโซเชียล โดยอ้างว่าลดน้ำหนัก แต่แท้ที่จริงพบว่า ประกอบไปด้วยยาชุดอยู่ภายใน มีทั้งไซบูทรามีน และยาระบาย ซึ่งอันตรายมาก ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ และอาจทำให้ช็อกเสียชีวิตได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลสืบต่อว่า มีใครรีวิว หรือใครเกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีถึงที่สุด

ชัดเจนว่า ขณะนี้ อย.เดินหน้าเต็มสูบ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการตรวจจับปราบปรามผลิตภัณฑ์ตรวจสุขภาพที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะปลอมเลขทะเบียน อย.ไม่ขอการรับรอง หรือขอแล้ว แต่ไปใส่สารต้องห้ามภายหลัง โดยเฉพาะการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รวมไปถึงการใส่คำที่ห้ามใส่ไว้ในฉลาก หรือการโฆษณา เช่น “Slim หรือ  Extra White”  และน่าจะมีมาตรการต่างๆ อีกมาก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่า ช่วงเวลานี้มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายมากมาย แต่หลังจากนี้การตรวจจับ ความเข้มงวดในการเดินหน้าจับผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย รวมทั้งการโฆษณาต่างๆ จะยังคงมีอยู่อย่างถาวรหรือไม่

ล่าสุด นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำชัดว่า ไม่ใช่แค่ช่วงนี้อย่างแน่นอน เพราะได้มีการสร้างเครือข่ายสังคมให้เกิดการตื่นตัว ซึ่งจะเกิดระบบถาวรขึ้น และจากการที่ร่วมกับทาง กสทช.ในการตรวจสอบโฆษณาผิดกฎหมาย ก็ไม่ได้แค่ระยะสั้น เพราะการทำงานร่วมกันครั้งนี้ นพ.วันชัย บอกว่าเป็นช่วงทดลองระบบ 3 เดือน ซึ่งหากพบมีการขายหรือโฆษณาผิดกฎหมาย กสทช.จะตรวจจับทันที และหากระบบผ่านพ้นไปได้ด้วยดีก็จะเกิดเป็นระบบถาวรขึ้น

งานนี้คงต้องถาม กสทช.ว่า ระบบจะถาวรอย่างไร หรือจะแก้กฎหมายอย่างไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆในส่วนของ อย.ก็ต้องติดตามต่อว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะการเฝ้าระวังตรวจจับอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องมีการสร้างเครือข่าย พันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ประเด็นการสร้างเครือข่ายทางสังคม คือ จะออกมาในรูปแบบใดบ้าง เนื่องจากโรงเรียน เด็กวัยรุ่น เด็กมัธยม หรือกลุ่มนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็หันมาเปิดร้านขายของออนไลน์ ถึงขนาดมาขายในโรงเรียนก็มี แรกเริ่มก็แจกฟรีให้เพื่อนๆ จากนั้นก็จำหน่าย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าลดน้ำหนัก ช่วยให้ผิวขาว

Advertisement

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า สิ่งที่ อย.พัฒนาและปรับปรุง ทั้งเรื่องการปรับระบบการขึ้นทะเบียน จากเดิมเครื่องสำอางไหนจะขึ้นทะเบียนก็แค่คีย์ข้อมูล มีเอกสารครบก็ให้อัตโนมัติมาเป็นมีเจ้าหน้าที่มากรองว่า ควรให้หรือไม่ให้ มีความเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งการลงไปตรวจสอบโรงงานผลิตด้วยนั้น จริงๆ ควรทำมานานแล้ว เพราะ กพย.และเครือข่ายเคยเสนอให้มีการปรับระบบมานาน เพราะจะเป็นช่องโหว่ได้ แต่พอมีประเด็นเมจิก สกิน มีเรื่องผลิตภัณฑ์ลีน จนมีคนเสียชีวิตก็มีการปรับระบบกันยกใหญ่ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่อยากให้ อย.ปรับระบบเพิ่มเติม คือ การที่บอกว่าจะร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายส่วนยินดีให้ความร่วมมือ แต่ปัญหาคือ เมื่อมีเครือข่าย จะมีระบบหรือกลไกอะไรให้ภาคประชาชนร่วมปฏิบัติหรือไม่ อย่างคู่มือการโฆษณาสินค้าต่างๆ ซึ่งจะนำไปประกอบในการเฝ้าระวัง

“อย่างสหรัฐอเมริกา จะมีคู่มือการโฆษณาสินค้าให้ประชาชน ใครจะรีวิวก็เข้ามาศึกษาได้เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย อย.ก็ควรจะมีเช่นกัน เพราะปัจจุบันคู่มือ หรือระเบียบการโฆษณาของ อย.ไม่ละเอียดมากนัก จึงอยากให้ทำตรงนี้ใหม่ ที่สำคัญต้องมีการปรับฐานข้อมูลใหม่ด้วย ซึ่งฐานข้อมูลจะมีทั้งรายงานการผลิตสินค้า การตรวจจับโรงงานที่ผลิตสินค้าผิดกฎหมาย เอกสารของผู้ผลิตที่มาขึ้นทะเบียน คู่มือการโฆษณา ฯลฯ ทั้งหมดต้องมีให้พร้อมและครบถ้วนจริงๆ เพราะหากมีข้อมูลดี การดำเนินการต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น อย่างหากพบว่าโรงงานไหนผลิตสินค้าที่ไม่ขึ้นทะเบียน หรือไม่ผ่านมาตรฐาน ก็ต้องมีข้อมูลและจัดทำเป็น

แบล็กลิสต์หรือบัญชีดำไปเลย รวมทั้งคนดังต่างๆ หากรีวิวสินค้าที่เกินจริง และทำบ่อยๆ ก็ต้องมีขึ้นบัญชีไว้เช่นกัน”  ผศ.ภญ.นิยดากล่าว

ดังนั้น อย.ต้องปรับระบบจริงจัง ปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากปรับปรุงฐานข้อมูลใหม่ให้อัพเดต และต้องมีการประเมิน ติดตามโรงงานผลิต หรือผู้ผลิตที่มาขอขึ้นทะเบียนอย่างสม่ำเสมอ ในทุกรายการ ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ยา แต่ต้องรวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย ทั้งหมดต้องทำคู่ขนานกันไป

ถึง อย.จะย้ำว่า สังคมจะพึ่งพา อย.อย่างเดียวไม่ได้ แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ซึ่งก็จริง แต่อย่าลืมว่า อย.ต้องเป็นศูนย์กลางข้อมูล ความน่าเชื่อถือต่างๆ เป็นแหล่งประสานงานและถ่ายทอดข้อมูลข้อเท็จจริง ดังนั้น ภารกิจหน้าที่ตรงนี้จึงเป็นเรื่องน่าติดตามว่า จะมีการพัฒนาระบบอย่างถาวรได้มากน้อยแค่ไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image