‘บิ๊กอู๋’ ยกทีมส่องฝึกอาชีพคนจนกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ตั้งเป้ากว่าหมื่นคน

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฝึกอาชีพโครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกำแพงเพชร และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 8 นครสวรรค์

พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2564) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมทางสังคม ที่มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 6 แสนราย โดย จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมด้วยกรมการจัดหางาน (กกจ.) สนับสนุนการจัดหางานให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย และส่งเสริมการรับงานกลับไปทำที่บ้าน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ให้ความคุ้มครองสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ส่งเสริมการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ดำเนินการด้านการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ โดยมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดฝึกอาชีพ ทั้งอาชีพอิสระ และช่างอเนกประสงค์ ล่าสุด สนพ.กำแพงเพชร ได้ดำเนินการฝึกอบรม รวม 7 รุ่น จำนวน 150 คน ในสาขา การทำศิลปะประดิษฐ์ 1 รุ่น การทำขนมไทย 3 รุ่น การประกอบอาหารไทย 1 รุ่น และการจักสาน 2 รุ่น มีผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพกับ สนพ.กำแพงเพชร จำนวน 6,899 คน และ สพร.นครสวรรค์ จัดฝึกอบรม 8 รุ่น จำนวน 220 คน สาขาการประดิษฐ์ต้นไม้มงคล สำหรับจำหน่ายเป็นของที่ระลึก และสาขาการทำของชำร่วยเพื่อการค้า ประเภทดอกไม้ดินและที่คั่นหนังสือ มียอดแจ้งฝึกอาชีพกับ สพร. 8 นครสวรรค์ จำนวน 5,085 คน

ด้านนายธัชชัย สีสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จ.กำแพงเพชร มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 22 ของประเทศ ด้านเศรษฐกิจมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมูลค่า 96,237 ล้านบาท รายได้หลักมาจากอุตสาหกรรม สาขาการเกษตร และสาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน

Advertisement

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดี กพร. กล่าวว่า จ.กำแพงเพชร มีประชากร 770,627 คน และ จ.นครสวรรค์ 1,065,334 คน ถือได้ว่าทั้งสองจังหวัดมีจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพกับ กพร.จำนวนมาก ทั้งนี้ทั้งสองพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และทางธรรมชาติที่งดงาม จึงต้องจัดหลักสูตรอาชีพที่เหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยว เช่น การทำกล้วยฉาบ ขนมกระยาสารท เฉาก๊วยชากังราว ขนมโมจิ ลูกชิ้นปลากราย เค้กปลาช่อน เพื่อเป็นของฝากให้แก่นักท่องเที่ยว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image