กทม.จับมือกรมทางหลวงวางแผนแก้น้ำท่วม ถ.วิภาวดีฯ

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำ และการขุดลอกคูน้ำเปิดทางน้ำไหลตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ประกอบด้วย การรื้อท่อลอดถนนและขุดลอกเปิดขยายคูน้ำนายกิมสาย 1 การหล่อบ่อพักของกรมทางหลวง บริเวณถนนพหลโยธิน ฝั่งอนุสรณ์สถาน การขุดลอกดินเปิดทางระบายน้ำคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีฯ บริเวณหน้าคอนโดแมกซ์ ตรวจการดันท่อลอดของกรมทางหลวง ถนนวิภาวดีฯ ฝั่งขาเข้า บริเวณปากซอยโชคชัยร่วมมิตร

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า รวม 6 สาย ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีแดง และสายสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองที่เริ่มดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่มีการก่อสร้างฐานรากของสถานีรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บริเวณถนนวิภาวดีฯ เป็นจุดที่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการดังกล่าวได้มีการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า (Sky Walk) มีโครงสร้างที่กีดขวางการระบายน้ำของคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีฯ ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลดลง

Advertisement

“จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขีดขวางทางระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีฯ 11 จุด ได้แก่ เขตจตุจักร 2 จุด เขตหลักสี่ 4 จุด และเขตดอนเมือง 5 จุด ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานเขตดอนเมือง กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้รับจ้าง ได้หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะแบ่งแก้ปัญหา 2 ระยะ คือ 1.แก้ปัญหาชั่วคราว โดยการขุดลอกคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีฯ บริเวณจุดก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี รวมทั้งการขุดลอกคูน้ำบริเวณโลคัลโรด ซึ่งมีเศษวัสดุเศษหินดินทรายจากการก่อสร้างไหลลงไปอยู่ในคูน้ำทำให้คูน้ำมีสภาพตื้นเขิน เพื่อเปิดทางน้ำไหลให้น้ำระบายลงสู่คูนายกิมสาย 1 และระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร ตลอดจนติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่มีการก่อสร้างดังกล่าว และ 2.แก้ปัญหาถาวร โดยวางท่อระบายน้ำอ้อมเสาตอม่อทางขึ้น-ลงสถานี เพื่อเป็นการบล๊อคน้ำบังคับทิศทางการไหลของน้ำให้ไหลผ่านท่อระบายน้ำให้เชื่อมต่อถึงกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีฯ” นายจักกพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้การรถไฟฯ จัดทำแผนการทำงานส่งให้ กทม.พิจารณาความเหมาะสม จากนั้น กทม.จะยื่นเรื่องให้กรมทางหลวงพิจารณาและอนุญาตให้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงได้ระงับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้ชั่วคราว เพื่อกำหนดแผนการทำงานในการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำที่ชัดเจนต่อไป

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ถนนวิภาวดีฯ บริเวณอนุสรณ์สถาน เป็นพื้นที่รอยต่อกับ จ.ปทุมธานี แต่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำจะดูแลระบบการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนกรมทางหลวงดูแลในพื้นที่ จ.ปทุมธานี โดยน้ำจะระบายตามแนวคูน้ำริมถนนวิภาวดีฯ ไปลงคลองลาดเป็ด และลงสู่คลองเปรมประชากร ซึ่งมีระยะทางไกล และใช้เวลานาน กรมทางหลวงจึงมีโครงการดันท่อลอดจากฝั่งอนุสรณ์สถานลอดใต้ถนนวิภาวดีฯ มาฝั่งสนามกีฬาธูปเตมีย์ รวมทั้งก่อสร้างบ่อพักน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณดังกล่าว เพื่อดึงน้ำไปลงที่คลองลาดสนุ่นระบายลงสู่คลองสอง หรือคลองลาดพร้าวโดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image