กทม.ช็อก!! ขยะคลองเตย900ตัน ชาวบ้านอ้างขี้เกียจเดินไปทิ้งไกล ลงคลอง สะดวกสุด

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่ชุมชนคลองเตยล็อค 4-6 ถ.อาจณรงค์ ภายในชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ เขตคลองเตย หลังสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตเข้าหารือผู้บริหารกทม.เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า โครงการที่อยู่อาศัยชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีประชาชนกว่า 1,000 หลังคาเรือนประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ทำให้กทม.เข้าสำรวจพื้นที่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหา พบคูระบายน้ำหลังชุมชน ซึ่งเป็นเส้นทางการระบายน้ำสายหลักของชุมชนที่จะช่วยระบายน้ำไปยังท่อระบายน้ำขนาด 60-80 เซนติเมตร (ซม.) ของกทม.และกทท.จัดสร้างขึ้น จากนั้นจะไหลไปรวมกันยังบ่อสุดท้าย ถ.อาจณรงค์ เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองหัวลำโพง กลับพบว่าต้นทางการไหลของน้ำมีน้ำท่วมขังมาก ไม่ไหลมายังบ่อปลายทาง สาเหตุเพราะขยะอุดตันภายในคูระบายน้ำจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก มัดรวมกันเป็นถุงขนาดใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาระบายน้ำ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจะใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี กระทั่ง กทม.ระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดและเก็บขยะในคูระบายน้ำ ซึ่งมีความกว้าง 10-20 เมตร (ม.) และยาวประมาณ 500 ม. ปัจจุบันใช้เวลาเก็บขยะมาแล้ว 15 วัน อุปสรรคมีซอยแคบและมีบ้านเรือนประชาชนหนาแน่น เจ้าหน้าที่เข้าทำงานลำบาก คาดใช้เวลา 45 วันหรือสิ้นเดือนกรกฎาคมจึงจะแล้วเสร็จ

“ทางเขตได้นำรถ 6 ล้อ จำนวน 5 คัน ขนขยะจากคูคลองวันละ 1 เที่ยว เก็บขยะได้วันละ 15-20 ตัน รวมครึ่งเดือน กทม.เก็บขยะได้แล้ว 300 ตัน คาดจะมีขยะในคูระบายน้ำถึง 900 ตัน แน่นอนว่าขยะหมักหมมมานานส่งผลให้น้ำเน่าและมีกลิ่นเหม็น” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

Advertisement

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซล ขนาด 10 นิ้วเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาหลังกทม.ทำความสะอาดคูคลองและติดตั้งเครื่องสูบน้ำปัญหาน้ำท่วมเริ่มบรรเทาลง และมีแผนจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1 จุด ขณะนี้ ได้มอบหมายให้เขตและประธานชุมชน ร่วมเจราจากับกทท. เพื่อขอติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ให้การระบายน้ำชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ประธานชุมชนเร่งทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ทิ้งขยะลงคูคลองเด็ดขาด พร้อมให้นัดหมายเวลาให้ทางเขตเข้ามาจัดเก็บขยะในช่วงเวลาใดก็ได้ ตามที่ชุมชนต้องการ เพื่อป้องกันปัญหาสุขอนามัยอื่นที่จะตาม คาดจะมีชุมชนลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นอีก กทม.ก็จะให้แต่ละเขตช่วยกันสำรวจต่อไป

นางอัจราวดี กล่าวว่า ทางเขตได้จัดวางถังขยะและกำหนดจุดทิ้งขยะให้ชุมชนมาทิ้ง โดยรถขยะได้เข้าไปเก็บขยะทุกวัน แต่ชุมชนไม่ได้นำขยะมาทิ้งยังจุดกำหนด กลับนำทิ้งยังคูระบายน้ำ ทุกวันนี้ทางเขตต้องไปเก็บขยะในคูระบายน้ำแทน ไม่ใช่เรื่องสนุกเพราะคูคลองมีน้ำเน่า เจ้าหน้าที่ต้องทิ้งตัวลงไปเก็บขยะในน้ำ ทั้งนี้ ในพื้นที่คลองเตย เขตได้จัดเก็บขยะต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโครงการนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ ทางเขตได้นัดวันเก็บขยะในวันเสาร์-อาทิตย์ หมุนเวียนกันไป 41 ชุมชนภายในพื้นที่ แต่หากมีกรณีพิเศษ ชุมชนสามารถแจ้งความประสงค์ให้เขตเร่งจัดเก็บได้

ด้าน นายทองคำ แซ่โค้ว อายุ 62 ปี ประธานชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ กล่าวว่า อาศัยอยู่ภายในชุมชนตั้งแต่เกิด อดีตคูคลองอยู่ท้ายหมู่บ้านเป็นคลองสวยและน้ำใส ไม่มีกลิ่นเหม็น ชาวบ้านมาอาศัยนั่งเล่นอยู่ริมคลองได้ แต่รอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบชาวบ้านนำขยะมาทิ้งขยะลงในคูคลองเป็นประจำ เพราะขี้เกียจไปทิ้งยังจุดทิ้งขยะที่กทม.กำหนด กระทั่งขยะในคูคลอง มีขยะทับถมจนไม่เห็นเป็นคลอง ทับถมจนมีลักษณะคล้ายพื้นดิน ที่ผ่านมาคนชุมชนเป็นโรคไข้เลือดออกเพราะมีน้ำขัง ปัญหาหนูพาหะนำโรคและปัญหากลิ่นน้ำเน่าเสียส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยชุมชนมีเด็กเล็กอาศัยอยู่ริมคลองด้วย จึงเป็นปัญหาน่ากังวล

“เมื่อมาเป็นประธานชุมชน เริ่มตระหนักเห็นปัญหาขยะทับถมก็จัดทำโครงการเสียงตามสายประกาศภายในชุมชน เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ทิ้งขยะลงคูคลอง แต่ไม่เป็นผล คาดหวังว่าหลังกทม.มาช่วยจัดเก็บขยะช่วยให้คูคลองกลับมาเหมือนเดิม ชาวบ้านจะเห็นความเปลี่ยนแปลงก่อน-หลัง พร้อมตระหนักถึงปัญหาความสะอาดยิ่งขึ้น สำหรับชุมชนพัฒนา 70 ไร่ มีจำนวน 1,180 หลังคาเรือนและมีผู้คนอาศัยอยู่ราว 9,000 คน” นายทองคำกล่าว และว่า ได้ขอให้ทางกทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดฝนตกน้ำมักท่วมเป็นประจำและไหลเข้าบ้านเรือนประชาชน แม้มีความสูงไม่มากแต่น้ำมีกลิ่นเหม็นมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีบ้านเรือนหนาแน่น คนในชุมชนส่วนใหญ่เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงแผงค้าขายผักและของสด บ้านเรือนแต่ละหลังมีพื้นที่ติดๆ กัน นอกจากขยะที่พบปริมาณมากในคูระบายน้ำแล้ว ยังพบขยะปริมาณมากตามท่อระบายน้ำของบ้านเรือน โดยเฉพาะขยะพลาสติกและขยะที่ไม่ใช้แล้ว บางหลังยังมีน้ำท่วมขังในท่อระบายน้ำหน้าบ้านและส่งกลิ่นเหม็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image