นิด้าโพล ชี้ ปชช. ส่วนใหญ่มองปม น.ร. ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาวในโรงเรียน ทำได้ไม่ผิด

นิด้าโพล ชี้ ปชช. ส่วนใหญ่มองปม น.ร.ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาวในโรงเรียน ทำได้ไม่ผิด

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาวในโรงเรียน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มในโรงเรียนเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาว การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มในโรงเรียนเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.25 ระบุว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก หากไม่กระทำผิดกฎหมาย รองลงมาร้อยละ 21.18 ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในสถานศึกษา, ร้อยละ 16.17 ระบุว่า เป็นการแสดงออกเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ, ร้อยละ 15.79 ระบุว่า เป็นการแสดงออกด้วยพลังบริสุทธิ์ของนักเรียน, ร้อยละ 13.67 ระบุว่า เป็นแค่แฟชั่นการแสดงออกทำตามกระแส ตาม social media/คำชักชวนของเพื่อน, ร้อยละ 11.77 ระบุว่า เป็นการแสดงออกเพื่ออนาคตของประเทศ, ร้อยละ 9.26 ระบุว่า เป็นการแสดงออกที่มีกลุ่มการเมือง/พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง, ร้อยละ 6.99 ระบุว่า เป็นการแสดงออกเพื่อล้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 3.80 ระบุว่า เป็นการสร้างความแตกแยกในสถานศึกษา, ร้อยละ 3.11 ระบุว่า เป็นการแสดงออกที่มีเจตนาอื่นแอบแฝง, ร้อยละ 1.97 ระบุว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกในครอบครัว, ร้อยละ 0.91 ระบุว่า เป็นการแสดงออกที่มีหน่วยงานต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง และร้อยละ 5.09 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านการเห็นด้วยของประชาชนกับการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งรวมกลุ่มในโรงเรียนเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาว พบว่า ร้อยละ 34.78 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนจำนวนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแต่ควรอยู่ในขอบเขต และครู/อาจารย์ ผู้ปกครองควรดูแลและให้คำแนะนำ ร้อยละ 17.23 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิของนักเรียนจำนวนหนึ่ง ที่จะเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วและผูกโบว์ขาวโดยไม่ผิดกฎของทางโรงเรียน ร้อยละ 15.41 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่สมควรเกี่ยวข้องเรื่องการเมือง เนื่องจากความคิดและวุฒิภาวะที่ยังไม่มากพอ ร้อยละ 25.82 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษา และควรทำหน้าที่ของตนเอง คือ เรียนหนังสือ และร้อยละ 6.76 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความเชื่อของประชาชนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างวัย จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 29.31 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะเด็กในยุคสมัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองค่อนข้างสูง ไม่ค่อยเชื่อผู้ใหญ่ และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง ร้อยละ 28.63 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะอิทธิพลทาง social media ส่งผลให้เด็กมีความก้าวร้าว รุนแรง นำมาซึ่งความขัดแย้ง และมีความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างวัยมากขึ้น ร้อยละ 14.88 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้น และเป็นการทำตามกระแสแฟชั่นในสังคม ร้อยละ 24.75 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะคนทุกวัยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และเด็กทุกวันนี้มีความคิดเป็นของตนเอง และร้อยละ 2.43 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

Advertisement

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 51.33 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะแต่ละฝ่ายต่างคิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองถูกต้องเสมอ เป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ร้อยละ 28.17 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นและอุดมการณ์ต่างกันอย่างชัดเจน ร้อยละ 8.43 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะคนทุกวัยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมือง ร้อยละ 9.11 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละบุคคลในการแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างมีอิสระ และร้อยละ 2.96 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image