TDRI ชี้ ระบายข้าวช้า เสียหายเพิ่มปีละ 1 หมื่นล้าน(คลิป)

มติชน สมาร์ทบิซ วันที่ 27 ก.ค.2559

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลวิจัย โครงการการระบายข้าวในคลังของรัฐ พบว่าในช่วงสิงหาคม 2557 ถึง มิถุนายน 2559 รัฐบาลระบายข้าวได้เพียง 7.5 ล้านตัน จากข้าวในสต็อกของรัฐที่มีอยู่ทั้งหมด 17.28 ล้านตัน ซึ่งถือว่าระบายข้าวได้ช้า เนื่องจากมีข้าวผลิตออกมาใหม่ทุกปี สาเหตุมาจากวิธีการรอจังหวะให้ราคาข้าวสูงขึ้นจึงค่อยระบาย ทำให้ข้าวยิ่งเสื่อมคุณภาพ รวมถึงมีภาระต้นทุนการเก็บรักษาและค่าดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 18,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลควรเปิดระบายข้าวอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้ข้าวในสต็อกหมดภายใน 2 ปี ทั้งยกโกดังและแยกกอง แต่หากไม่จำเป็นไม่ควรขายข้าวสู่เกรดอาหารสัตว์และทำเชื้อเพลิง เพราะได้ราคาถูกทำให้ขาดทุนมาก ส่วนข้าวในโกดังที่มีข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือข้าวเกรดซี ที่คุณภาพข้าวต่ำมาก ควรใช้มาตรา 44 ขายข้าวในสต็อกเป็นเกรดอุตสาหกรรมเป็นรายกรณี เพื่อระบายข้าวได้เร็วและลดค่าใช้จ่าย โดยต้องพิสูจน์ถึงคุณภาพข้าวว่าเสื่อมมากแล้วจริง ๆ โดยปัจจุบันข้าวเกรดซีในสต็อกมีประมาณ 4.59 ล้านตัน จากข้าวในสต็อกทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้ 9.7 ล้านตัน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การระบายข้าวได้ช้าไปหนึ่งปี จะทำให้มูลค่าการขาดทุนของโครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดยประเมินจากความเสียหายของการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว ที่คำนวณจากราคาข้าวเดือนพฤษภาคม 2559 มูลค่าการขาดทุนของโครงการฯ เพิ่มขึ้นเป็น 5.8 แสนล้านบาท จากที่ประเมินเมื่อพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ 5.49 แสนล้านบาท

Advertisement

นายนิพนธ์ ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรคิดแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยการนำมาเก็บไว้ในสต็อค เพราะกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงระบบบัญชีของรัฐไม่เอื้อต่อวิธีการดังกล่าว หากจำเป็นต้องมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ควรจะใช้วิธีช่วยเหลือโดยตรง เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรง จ่ายในส่วนต่างราคาประกันพืชผล เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image