ผลวิจัยชี้ ย่านการค้าแบบดั้งเดิมยังเติบโตได้ยั่งยืน(คลิป)

มติชน สมาร์ทบิซ วันที่ 29 ก.ย.2559

ผศ.ดร. แรนดอล แชนนอน อาจารย์ประจำสาขาการตลาด หลีกสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลวิจัย “การก่อตั้งและความยั่งยืนของห้างค่าปลีกสินค้าชนิดเดียวกันในเมืองใหญ่” โดยสำรวจธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯ ที่มีร้านค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันในบริเวณ 5 เมตร จำนวน 14,468 ร้าน ใน 299 ย่านธุรกิจค้าปลีกทั่วกรุงเทพฯ พบว่า การรวมตัวกันของผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันในลักษณะคลัสเตอร์ เป็นการอยู่ร่วมกันแบบส่งเสริมกัน

เพราะทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบกันระหว่างร้านค้า เกิดการแข่งขันภายในย่านการค้าเดียวกัน สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภชาวไทย ที่เมื่อต้องการซื้อสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง จะคำนึงถึงชื่อเสียงของย่านการค้าที่มีสินค้าประเภทนั้น ๆ เป็นลำดับแรก เช่น ต้องการซื้ออะไหล่จะนึกถึงย่านวรจักร ต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าจะนึกถึงบ้านหม้อ ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในย่านการค้าเหล่านี้จำนวนมาก และเกิดการเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ

Advertisement

โอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ให้ความสนใจในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิม แต่หลายแห่งออกมาในรูปแบบของการเปลี่ยนย่านการค้าดั้งเดิม มาเป็นแหล่งการค้าแบบโมเดิร์นเทรด ที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท และมีร้านอาหารมากมายให้บริการ ใช้เงินลงทุนโครงการละ 500 ถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จากข้อมูลพบว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีราคาเฉลี่ย 1,500 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่พื้นที่ในย่านการค้าดั้งเดิม ที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน มีค่าเช่าสูงกว่า 10,000 บาทต่อตารางเมตร และยังมีผู้เช่าอย่างหนาแน่น

นอกจากนี้ การที่ย่านการค้าดั้งเดิมต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ มีอายุเฉลี่ยกว่า 70 ปี และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการค้าปลีกในย่านดังกล่าว ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปี สะท้อนว่าย่านการค้าปลีกแบบดั้งเดิม ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image