เหยี่ยวถลาลม : ใครจะนำการเปลี่ยนแปลง

ต้องยอมรับว่าเหตุที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อมิถุนายน 2475 สำเร็จลุล่วงได้โดยง่ายนั้นก็เพราะมี “มือ” กับ “เหล็ก” จากบุลลากรของกองทัพ

นับจากนั้นกองทัพไทยก็ถูกลากเข้าสู่วงจรแห่งอำนาจการเมืองด้วยเหตุที่มีความเหนือกว่าองค์กรอื่นตรงที่มี “อาวุธ” อยู่ในมือ มีบุคลากรที่มีระเบียบวินัย ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ และมีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
กองทัพไทยติดใจในอำนาจทางการเมืองจนไม่เคยคิดจะถอยออกไปเลย ?

น่าสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมกองทัพที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรระดับโลกในครั้งอดีตอย่าง “กองทัพญี่ปุ่น” จึงไม่ข้องแวะยุ่งเกี่ยวกับ “อำนาจการเมือง”

ทั้งๆ ที่ “กองทัพญี่ปุ่น” เข้มแข็งเกรียงไกรจนเป็นที่เกรงขามของประเทศมหาอำนาจต่างๆ “เหตุใด” จึงไม่เคยคุกคามนักการเมืองญี่ปุ่นซึ่งมีแค่ 2 มือเปล่าแม้แต่ครั้งเดียว !
ความรู้สึกนึกคิดแบบนั้น วัฒนธรรมเช่นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร

Advertisement

ทั้งที่ไทยกับญี่ปุ่นเริ่มเร่งรัดพัฒนาประเทศในระยะที่ใกล้เคียงกัน แต่ทำไมจึงทิ้งไทยทุกด้านชนิดไม่เห็นฝุ่น

“เลือดบูชิโด – หัวใจซามูไร นั้นพัฒนามาจากนักรบอาชีพ “ความมีเกียรติภูมิ ไม่ใช่สิ่งที่ติดอยู่กับชื่อของตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของ “การทำหน้าที่”
ถึงแม้จะมีตำแหน่งสูงๆ แต่ถ้าไม่ทำหน้าที่ ก็หาคุณค่าอันใดไม่ได้

แม้ในอดีตกองทัพญี่ปุ่นจะมาจากทหารเกณฑ์ แต่คนที่อาสา มาจากซามูไร มาฝึกฝนพัฒนาอาชีพเป็น “นักรบ” ประจำการ
ไม่ยุ่งการเมือง

Advertisement

การยอมรับกติกาและอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน คือ เกียรติยศ

การขู่คำราม คุกคาม เคลื่อนกำลังรบพร้อมอาวุธเข้าจี้บังคับรัฐบาลพลเรือนเป็นการทรยศ !

กล่าวสำหรับในเมืองไทยนั้น พฤติกรรมทางการเมืองของกองทัพควรจะหมดไปตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 เสร็จสิ้น

ถ้าย้อนทบทวนพิจารณาดู การใช้กำลังทหารและอาวุธเข้าก่อรัฐประหารยุคหลังล้วนเป็นเรื่อง “ช่วงชิงอำนาจ” และนำมาซึ่งความหายนะ

ตอนแรก คณะรัฐประหารอาจกระหยิ่มยิ้มย่อง แต่เมื่อผ่านไปไม่นานก็พบว่า “เสถียรภาพรัฐบาล” ง่อนแง่น ไม่มั่นคง ภายในเต็มไปด้วยความขัดแย้ง บาดหมาง ฉ้อฉล ช่วงชิง ส่วนภายนอกประเทศก็เป็นที่น่ารังเกียจ
ในที่สุด “นักรัฐประหาร ทุกคนก็มักจะปูทางพาตัวเองกลับไปเดินบนถนนประชาธิปไตยที่อาศัยการเลือกตั้งเป็น “ใบเบิกทาง” สู่อำนาจอีกครั้ง

วกวน วกเวียนอยู่อย่างนี้ !?!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image