คอลัมน์ไทยพบพม่า ไม่มีโทษประหารชีวิตในพม่า? โดย : ลลิตา หาญวงษ์

กลุ่มปกป้องสิทธิของผู้หญิงเดินขบวนเพื่อต่อต้านการข่มขืนและเพื่อสนับสนุนให้ประหารชีวิตนักโทษที่ข่มขืนกระทำชำเราเด็ก, กุมภาพันธ์ 2018 (ภาพจาก Coconut Yangon)

ตลอดสัปดาห์นี้ ผู้อ่านคงจะได้ยินเรื่องการรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตกันหนาหูขึ้น สืบเนื่องจากกรมราชทัณฑ์ของไทยเพิ่งดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารนักโทษเด็ดขาดรายหนึ่ง นับเป็นนักโทษประหารรายแรกในรอบ 9 ปีของไทย เรื่องนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในสังคมไทย โดยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านโทษประหารชีวิต ฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าการประหารชีวิตเป็นการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” และป้องกันกรณีวัวหายล้อมคอก และยังมองว่าเป็นการชดใช้กรรมที่สาสม ส่วนฝ่ายที่คัดค้านมองว่าการประหารชีวิตไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอาชญากรรม เพราะงานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโทษประหารชีวิตมิได้ทำให้จำนวนอาชญากรรมลดลง นอกจากนี้ยังเป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำอย่างฉกาจ เพราะนักโทษที่มีฐานะยากจนไม่สามารถจ้างทนายเก่งๆ ให้ว่าความให้ตนได้ ในระดับนานาชาติ สหประชาชาติ และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรณรงค์ให้ยุติโทษประหารชีวิตมากขึ้น เพราะในช่วงหลายปีมานี้มีหลายประเทศที่ตัดสินประหารชีวิตนักโทษที่รัฐมองว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และเป็นภัยต่อความมั่นคง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนยังยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ว่าโทษประหารชีวิตมีส่วนช่วยป้องกันการก่ออาชญากรรมรุนแรงได้ดีกว่าการลงโทษแบบอื่นๆ

ในพม่า สถานการณ์ต่างจากไทยพอสมควร เพราะรัฐบาลพม่า ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่นำโทษประหารชีวิตมาใช้ แม้จะเป็นกับนักโทษคดีร้ายแรง ในช่วงหลายปีมานี้ เพื่อนๆ ชาวพม่าของผู้เขียนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าคดีอุกฉกรรจ์ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการข่มขืนแล้วฆ่า เกิดขึ้นบ่อยขึ้น และคดีที่สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นมากเป็นพิเศษคือคดีกระทำชำเราเด็กและเยาวชน ตั้งแต่อายุ 2-10 ปี ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2017 เพียงปีเดียว มีคดีข่มขืนกระทำชำเรา 1,405 คดี เหยื่อ 508 คนเป็นผู้ใหญ่ และอีก 897 คนเป็นเด็ก มากกว่าปี 2016 ที่มีคดีในลักษณะเดียวกันเพียง 1,100 คดี คดีสะเทือนขวัญที่สุดตั้งแต่ต้นปีน่าจะเป็นการข่มขืนและฆ่าเด็กผู้หญิงอายุเพียง 2 ขวบ ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองมาดายา ในมณฑลมัณฑะเลย์ ชาวบ้านในพม่าตอนเหนือลุกขึ้นมา จนเกิดการรณรงค์สนับสนุนให้รัฐบาลพม่าลงโทษประหารชีวิตผู้ข่มขืนกระทำชำเรา มีผู้ลงนามในการร้องเรียนนี้หลายหมื่นคน การรณรงค์นี้แพร่ออกไปในวงกว้าง และไม่ได้มีเพียงข้อเรียกร้องให้ประหารชีวิตนักโทษคดีข่มขืนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรณรงค์จากฟากฝั่งรัฐบาลให้ผู้หญิงพม่าแต่งกายให้มิดชิด รักนวลสงวนตัว และไม่ออกจากบ้านในยามวิกาล เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เช่น กลุ่ม 4 Women’s Voice ตอบโต้ว่ามาตรการของรัฐบาลไม่ตอบโจทย์การลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ในปัจจุบัน นักโทษคดีข่มขืนกระทำชำเราได้รับโทษจำคุกระหว่าง 10 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ความไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลยังลามไปอีกหลายพื้นที่ทั่วพม่า

สำหรับประเด็นเรื่องการประหารชีวิตนักโทษคดีร้ายแรงในพม่านั้น ผลสำรวจจาก Death Penalty Database ที่รวบรวมโดย Cornell Law School ปรากฏว่าในรัฐธรรมนูญพม่า ไม่มีวรรคใดที่กล่าวถึงโทษประหารชีวิตโดยตรง แต่มีการแก้รายละเอียดเกี่ยวกับประหารชีวิตมา 2 ครั้ง กล่าวคือในปี 1993 โทษประหารชีวิตครอบคลุมคดีการลักลอบขนยาเสพติด และในปี 2005 ครอบคลุมคดีค้ามนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติ พม่าไม่ได้ประหารนักโทษอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1988 เมื่อครั้งที่นายพลเน วิน ยังอยู่ในอำนาจ และในปัจจุบัน Amnesty จัดให้พม่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต (abolitionist) ด้วย

ผ่านมา 30 ปีแล้ว ที่มีนักโทษประหารในพม่า (พม่าใช้วิธีประหารนักโทษโดยการแขวนคอ) แต่รัฐบาลพม่ายังคงยืนกรานว่าจะไม่นำมาตรการประหารชีวิตมาใช้ แม้จะมีการกดดันจากภาคประชาสังคมอย่างหนักตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลพม่ายังหนักแน่น เรียกว่าเหนือความคาดหมายของประชาคมโลก ที่คาดหวังว่าประเทศที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงอย่างพม่าต้องประหารนักโทษไปเป็นจำนวนมาก ท่าทีของรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตน่าสนใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งลุกขึ้นพูดในสภาลุดด่อเมื่อสภานัดพิจารณาข้อเสนอให้ประหารชีวิตผู้ข่มขืนกระทำชำเราเด็กว่าพม่า “ยอมรับแบบปราศจากเงื่อนไขว่าไม่มีอาชญากรรมใดๆ ที่สมควรได้รับโทษประหาร เช่นที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติหลายชาติยอมรับตรงกัน” และยังกล่าวอีกว่า “โทษประหารชีวิตไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย การสร้างสันติภาพ และหลักแห่งกฎหมาย ซึ่งพม่ากำลังทำอยู่” สมาชิกส่วนใหญ่ในสภาลุดด่อโหวตให้ข้อเสนอให้มีโทษประหารชีวิตตกไป

Advertisement

ผู้เขียนไม่มั่นใจว่าเหตุใดรัฐบาลพม่าจึงยืนกรานไม่นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ แต่ภาครัฐพม่ามักอ้างการมีส่วนร่วมในการโปรโมตสิทธิมนุษยชน และเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ของสหประชาชาติและ Amnesty กล่าวอย่างง่ายคือพม่าต้องการอัพเกรดตนเองให้เป็นประเทศที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กับชาติสมาชิกอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน พม่าก็มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงมาโดยตลอด และน่าสนใจว่าผู้ที่เรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้กระทำชำเราเด็กนั้นล้วนแต่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพิทักษ์สิทธิของเด็ก เยาวชน และสตรีทั้งสิ้น ส.ส.และเจ้าหน้าที่รัฐในพม่าออกมาให้สัมภาษณ์ในแนวทางเดียวกันคือการประหารชีวิตไม่ใช่ทางแก้ปัญหา หรือเป็นการเกาไม่ตรงจุด แต่รัฐควรหันมาส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศศึกษาในโรงเรียน และการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม (เช่นการแต่งตัวมิดชิดไม่ใช่มาตรการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ)

กรณีการประหารชีวิตยังเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในพม่า ประชาชนจำนวนมากส่งเสริมให้มีการประหารชีวิตเพราะรู้สึกโกรธแค้นที่มีเด็กและเยาวชนถูกข่มขืนมากขึ้น และต้องการ “ความยุติธรรม” ให้กับเหยื่อ แต่กลับนิ่งเฉยเมื่อรัฐบาลพม่าสังหารชนกลุ่มน้อย หรือแม้แต่คู่แข่งทางการเมืองของกองทัพ สันติภาพในพม่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน หากคนในสังคมเลือกใช้สองมาตรฐาน เลือกปกป้องสิทธิมนุษยชนบางอย่าง ที่ตนเองได้รับประโยชน์ แต่ดูถูกดูแคลนสิทธิมนุษยชนของคนอื่น อย่างไรก็ดี สถานการณ์การประหารชีวิตในพม่ายังทรงตัว และในอนาคตอันใกล้ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลพม่าจะประกาศยกเลิกการประหารชีวิตอย่างถาวร ตลอดจนหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ เมื่อถึงวันนั้นพม่าก็จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกได้อย่างภาคภูมิสถาพร

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image