‘สดร’ เผยภาพดาวเคราะห์น้อยเวสตาโคจรใกล้โลกที่สุดรอบ10ปี-ดูด้วนตาเปล่าได้ถึง 22 มิย.นี้(มีคิลป)

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.61 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยภาพดาวเคราะห์น้อยเวสตา บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเซียรารีโมท รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ช่วงโคจรในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกที่สุด ลุ้นฟ้าใสไร้ฝน ชมด้วยตาเปล่าได้จนถึงวันที่ 22 มิ.ย. 61 หากใช้กล้องสองตาช่วยสังเกตการณ์จะเห็น

นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. ผู้บันทึกภาพกล่าวว่า เมื่อเวลา 15.51 น. ตามเวลาประเทศไทย วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาได้บันทึกภาพดาวเคราะห์น้อยเวสตา โดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ สดร. ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเซียรารีโมท รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์น้อยเวสตาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เข้าใกล้โลกที่สุดและมีความสว่างมากที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 170.6 ล้านกิโลเมตร ครั้งนี้เป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 อีกด้วย สำหรับคลิปวีดีโอนี้ ใช้เวลาบันทึกภาพรวม 50 นาที ได้ 5 ภาพ แต่ละภาพใช้เวลาห่างกัน 10 นาที จากภาพสังเกตเห็นดาวเคราะห์น้อยเวสตาเคลื่อนผ่าน มีพื้นหลังเป็นดาวฤกษ์ในระบบสุริยะ

นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวเคราะห์น้อยเวสตามีค่าความสว่างปรากฏในช่วงปกติที่แมกนิจูด 5.7 ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีค่าความสว่างปรากฏตั้งแต่แมกนิจูด 6 ขึ้นไป การโคจรเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อยเวสตาในครั้งนี้ มีค่าความสว่างปรากฏลดลงถึงแมกนิจูด 5.3 (ค่าความสว่างปรากฏหรือค่าแมกนิจูด ยิ่งตัวเลขมากความสว่างยิ่งน้อย ส่วนค่าความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์มองเห็นได้ อยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 6 ลงไป) ดังนั้น หากสังเกตการณ์ในที่มืดสนิท ไม่มีแสงรบกวน อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในช่วงนี้ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดทั้งคืนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

Advertisement

ดาวเคราะห์น้อยเวสตา ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2350 เป็นดาวเคราะห์น้อยลำดับที่สี่ ใช้เวลาวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 3.6 ปี วงโคจรเกือบมีเป็นวงกลมคล้ายกับดาวอังคาร โคจรบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 525 กิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นลำดับสองในหมู่บริวารขนาดเล็กของดวงอาทิตย์รองจากดาวเคราะห์แคระเซเรส แต่โคจรอยู่ใกล้โลกมากกว่า ข้อมูลจากยานสำรวจอวกาศดอว์นของนาซา ที่ส่งไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยเวสตาและดาวเคราะห์แคระเซเรส ได้เผยแพร่ภาพความละเอียดสูงภายหลังโคจรสำรวจรอบดาวเคราะห์น้อยเวสตา เมื่อ พ.ศ. 2554 เป็นเวลา 1 ปี พบว่ารูปทรงของดาวเคราะห์น้อยเวสตาคล้ายหัวมัน มีพื้นผิวเต็มไปด้วยหลุมที่เกิดจากการถูกชนในอดีต ซึ่งเคยเกิดการถูกชนครั้งใหญ่ ทำให้มวลสารส่วนหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง (Differentiation) ทำให้มีโครงสร้างภายในเป็นชั้นคล้ายดาวเคราะห์หิน (Terrestrial Planet) ซึ่งพบแร่ธาตุองค์ประกอบคล้ายกับอุกกาบาตหายากในกลุ่ม เอชอีดี (โฮวาร์ไดต์ส ยูไครต์ส และ ไดโอเจไนต์ส) (HED: Howardites, Eucrites, and Diogenites ) ที่พบบนโลก ซึ่งคาดว่ามีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้

นายสิทธิพร กล่าวว่า หากสนใจสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยเวสตาควรอยู่ในที่มืดสนิท ในเดือนมิถุนายน ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะปรากฏตั้งแต่เวลาหัวค่ำ ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องสองตาและแผนที่ดาวช่วยสังเกตการณ์ จะสามารถหาตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยเวสตาได้ง่ายขึ้น และจะปรากฏการณ์ตลอดคืนถึงรุ่งเช้า ทั้งนี้ ควรสังเกตการณ์ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 หลังจากวันดังกล่าวจะมีแสงจันทร์รบกวน และค่าความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image