ไหว้ครูทำไม ทำไมต้องไหว้ครู โดย : จารึก อะยะวงศ์

โรงเรียนทั่วประเทศเปิดเรียนมา 3 สัปดาห์แล้ว ปกติในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน กิจกรรมประจำที่ทุกโรงเรียนทำมาอย่างสม่ำเสมอ คือ “พิธีไหว้ครู” แต่ปีนี้หัวหน้าพรรคการเมืองชื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ได้ประกาศตัวว่าพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี และจะสั่งให้โรงเรียนทั่วประเทศเลิกพิธีไหว้ครูทันที จากนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นลูกพรรคการเมืองนี้ ออกมาประสานเสียงสนับสนุนทันที ต่อมานักศึกษาหัวก้าวหน้าซึ่งถูกปลดออกจากประธานสภานิสิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าและได้รับเชิญไปแสดงทรรศนะคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเวทีระดับโลกปีนี้ ก็ออกมาเสนอให้จัดพิธีไหว้ครู ทุกเทอม ในรูปแบบ “การจัดปาร์ตี้” แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างอาจารย์และนักศึกษา

โดยที่ผู้แสดงทรรศนะเรื่องพิธีไหว้ครูทั้ง 3 กรณี ต่างพ้นสภาพความเป็นนักเรียนไปแล้ว คงจะลืมความรู้สึกในครั้งที่เป็นนักเรียนไปบ้าง ที่ผ่านมา ผมเคยแซวเพื่อนฝูงที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่เสมอว่า มหาวิทยาลัยมีแต่อาจารย์ ไม่มีครู แต่มีการจัดพิธีไหว้ครู ซึ่งไม่รู้ว่าไหว้ใครกันแน่ และเพื่อความเข้าใจที่ดี ขอเสนอที่มาของพิธีไหว้ครูในโรงเรียนว่ามีความเป็นมาอย่างไร

พิธีไหว้ครูมีขึ้นในโรงเรียนครั้งแรกเป็นความริเริ่มของอาจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล นักการศึกษาคนสำคัญของไทย ในสมัยที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่วนคำกล่าวไหว้ครูนั้น ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ภริยาของท่านเป็นผู้ประพันธ์ ทั้งนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมไทยโบราณ ที่ผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนจะต้องไปแสวงหาวิชาความรู้โดยขอฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ของนักปราชญ์แห่งยุคนั้นๆ และการขอฝากตัวเป็นศิษย์ก็คงจะต้องแสดงคารวะด้วยความนอบน้อม ซึ่งก็คือ “การไหว้” ดังนั้นการไหว้ครูจึงเป็นวัฒนธรรมทางสังคมของไทยมาแต่โบราณ

ที่สำคัญก็คือ การไหว้ครูตามแบบของอาจารย์ ม.ล.ปิ่นนั้น ท่านกำหนดให้ตัวแทนนักเรียนที่เชิญพานดอกไม้ไหว้ครู ให้นำพานดอกไม้ไปกราบถวายพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานในพิธี จากนั้นตัวแทนนักเรียนจึงถอยออกมาเพื่อไปกราบตัวท่านและคุณครูอาวุโสด้วยมือเปล่า มิใช่เอาพานดอกไม้ไปไหว้ท่าน ทั้งนี้ท่านคงจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าคือ “บรมครู” ฉะนั้นการไหว้ครูควรไหว้พระพุทธเจ้า และบูรพคณาจารย์ด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นทัศนคติที่ดีงาม อย่างไรก็ดีเมื่อโรงเรียนอื่นๆ นำไปปฏิบัติได้เปลี่ยนแปลงให้ตัวแทนนักเรียนนำพานดอกไม้ไปไหว้ผู้บริหารโรงเรียนและครูปัจจุบันซึ่งทำให้คุณค่าของพิธีไหว้ครูลดลง

Advertisement

ดังนั้น พิธีไหว้ครูจึงเป็นวัฒนธรรมที่งดงามของไทย เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตใจที่ดีงาม มีความอ่อนน้อม รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคุณครูในโรงเรียนนอกจากสอนวิชาตามหลักสูตรแล้ว คุณครูยังต้องคอยสังเกตว่ามีนักเรียนบางคนไม่เคยกินข้าวกลางวัน คุณครูต้องพยายามหาทุนการศึกษาให้ นักเรียนบางคนเรียนช้า คุณครูต้องตามตัวมาอธิบายหรือสอนเพิ่มเติมหลังเลิกเรียน นักเรียนบางคนมีปัญหาภายในครอบครัว คุณครูต้องติดตามไปช่วยเหลือถึงบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูจึงแน่นแฟ้น ต่างจาก
อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เล็กเซอร์เสร็จก็กลับเข้าห้องพัก ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษาจึงแทบจะไม่มีเลย

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยควรทำการวิจัยความรู้สึกของนักศึกษาปัจจุบันว่ามีความสัมพันธ์ทางจิตใจต่ออาจารย์มหาวิทยาลัย และต่อคุณครูที่เคยสอนในขณะเป็นนักเรียน ว่ามีความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร จะได้ทราบว่า “พิธีไหว้ครู” มีความสำคัญและมีคุณค่าทางจิตใจต่อนักเรียนเพียงใด มีเรื่องจริงที่ขอนำมาบอกเล่าก็คือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่เป็นรัฐมนตรีปัจจุบันท่านหนึ่ง พร้อมด้วยอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ชวนเพื่อนๆ ศิษย์เก่าร่วมกันจัดพิธีไหว้ครูเก่าที่โรงเรียนเตรียมฯ เช่นเดียวกับที่ได้ทำในปีก่อนๆ น่าชื่นใจมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image