กรม​ชล​ร่วมเวทีเสวนาการบริหารทรัพยากร​น้ำในระดับพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ดร.ทวีศักดิ์ ธน​เดโช​พล​ รองอธิบดีฝ่ายบำ​รุ​งรักษา กรม​ชลประทาน​​ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์​ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากร​น้ำแห่งชาติ นายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ พลตรีอภิสิทธิ์ นุชบุษบา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ร่วมเสวนาการบริหารทรัพยากร​น้ำในระดับพื้นที่ (ภาคเหนือ)​ ดำเนินรายการโดย น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ เพื่อนำเสนอบทบาทหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการบูรณาการร่วมกันของแต่ละหน่วยงานในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งเริ่มต้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่แรก เนื่องจากภาคเหนือถือเป็นปราการด่านแรกที่จะได้รับผลกระทบในฤดูน้ำหลาก หากมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและมีปริมาณน้ำฝนเป็นจำนวนมาก ก่อนจะไหลลงสู่ภูมิภาคอื่นๆ เป็นลำดับถัดไป โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และกลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าร่วมฟังการเสวนา ณ ห้องสวรรคโลก โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี​ วางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยการวาง 3 เสาหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ 20 ปี องค์กรกลางที่ทำหน้าที่วางแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ คือ สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ….. ซึ่งใกล้จะได้ข้อสรุปแล้วนั้น ประกอบกับการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เป็นการดำเนินงานที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด เนื่องจากที่ผ่านมาทุกหน่วยงานต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ แต่อาจจะมีการทับซ้อนกัน หรือไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งผลให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ การที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหน้าที่กำหนดบทบาทของแต่ละหน่วยงานให้มีความชัดเจน รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ และขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างมีแบบแผนจะทำให้การขับเคลื่อนทุกแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมชลประทานได้ใช้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำโดยใช้หลักการกัก หน่วง ระบาย ด้วยอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ ทุ่งรับน้ำ เครื่องจักรเครื่องมือ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกจากนี้ยังมีระบบการคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นรายเดือน และฤดูน้ำหลาก น้ำแล้งด้วยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ โดยได้ข้อมูลมาจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และแจ้งเตือน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้า และใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำต่อไปร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น หากมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็จะแจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นพื้นที่เสี่ยง จัดระบบเครื่องจักรเครื่องมือและบุคคลากรเข้าไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือและบุคคลากรเพิ่มเติมจากกระทรวงมหาดไทย โดยมีหน่วยงานอีกหลายสิบหน่วยงานร่วมกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานอย่างบูรณาการที่แท้จริง โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนนโยบายจนนำไปสู่การปฏิบัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image