กสิกรฯ รายงานหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกชะลอตัว แต่ยอดคงค้างหนี้ยังสูง 12.17 ล้านลบ.

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย แจ้งว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2561 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 77.6% จากระดับ 78.0% ในไตรมาส 4/2560 แต่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2561 ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 12.17 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สอดคล้องกับการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในส่วนธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ิอเช่าซื้อรถยนต์ และสำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจจะชะลอมาอยู่ในกรอบ 76.5-77.5% โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่ายอดคงค้างหนี้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอาจจะขยับลงต่อเนื่อง แต่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อรายย่อยที่ยังขยับสูงขึ้น สะท้อนว่าสถาบันการเงินต่างๆ ยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดกรองลูกค้า การดูแลคุณภาพหนี้ และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่ต้นทุนดอกเบี้ยอาจมีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น

“หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ราวครึ่งหนึ่งเป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ และขยายธุรกิจ อย่างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเลข 2 หลัก ตามอานิสงส์ของยอดขายรถยนต์ใหม่ ขณะเดียวกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกันนั้น ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เริ่มนำฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) มาใช้ประโยชน์ในการประกอบการวิเคราะห์เครดิตหรือความเสี่ยง รวมถึงวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สินเชื่อของลูกค้ามากขึ้น และเมื่อประกอบกับนโยบายด้านเครดิต น่าจะทำให้มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าหนี้ครัวเรือนที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ส่วนหนึ่งจะมีลักษณะสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image