โทษประหารชีวิตกับสังคมไทย โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 บัญญัติว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด มีดังนี้

(1) ประหารชีวิต
(2) จำคุก
(3) กักขัง
(4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน

วรรคสอง โทษประหารชีวิต และโทษจำคุกตลอดชีวิต มิได้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

วรรคสาม ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิด ในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

Advertisement

มาตรา 19 ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย

การประหารชีวิต จึงเป็นโทษหนึ่งในห้าที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตรา โดยผ่านคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เป็นกฎหมายสำคัญที่มาจาก
ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้รับเลือกมาจากประชาชนชาวไทย ที่มาของกฎหมายนี้ต้องถือว่าเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยวิถีทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยทุกประการ

และวิธีการประหารชีวิตก็ยังมีบทบัญญัติไว้อย่างรอบคอบในมาตรา 18 วรรค 2 และวรรค 3 โดยคุ้มครองบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ซึ่งต้องถือว่ายังเป็นเยาวชน ซึ่งมีความคิดอ่านยังอ่อนเยาว์อยู่

เมื่อการประหารชีวิตเป็นโทษหนัก ประมวลกฎหมายอาญาจึงมีบทบัญญัติกำหนดโทษนี้ไว้เฉพาะความผิดที่ร้ายแรงหรือที่มีลักษณะอุกฉกรรจ์เท่านั้น เช่น ความผิดหมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มาตรา 113 คือ ความผิดฐานเป็นกบฏ ระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา 148 มาตรา 149 ระวางโทษขั้นสูงประหารชีวิต ความผิดลักษณะ 12 เกี่ยวกับทรัพย์ มาตรา 340 วรรคท้าย ความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดลักษณะ 10 หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต (ฆ่าบุพการี ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย) มาตรา 289 ระวางโทษประหารชีวิต เป็นต้น

ผู้ที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญา ต้องเป็นผู้ที่กระทำการใดๆ ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดนั้น และผู้พิจารณาพิพากษาลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้คือ ศาลหรือผู้พิพากษาเท่านั้น การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นถือว่าเป็นอิสระ ความเป็นอิสระนี้ได้มีการรับรองไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทุกฉบับ กระบวนพิจารณาของศาลต้องกระทำไปโดยถี่ถ้วน รอบคอบตามกระบวนการวิธีพิจารณาคดีอาญา มีการสืบพยานโจทก์ จำเลย ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และวัตถุพยาน หากพยานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง ก็จะต้องนำสำนวนมาปรึกษากันในระหว่างผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน กับองค์คณะผู้พิพากษา

แม้ความผิดที่จำเลยกระทำจะมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ถ้าตามสำนวนมีเหตุที่สมควรจะลดโทษให้ เช่น คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนหรือในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ศาลก็จะลดโทษให้ การลงโทษประหารชีวิตของศาลจึงมีน้อยมาก

ในชีวิตการเป็นผู้พิพากษาของผู้เขียนในเวลาประมาณ 36 ปี จำได้ว่าได้พิจารณาพิพากษาประหารชีวิตจำเลยเพียง 2 คดี คดีแรกเป็นองค์คณะคดีข่มขืนกระทำชำเราเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 ทวิ (2) ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

คดีที่สองเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดีฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (5) และความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย ความผิดทั้งสองกรรมมีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต

เหตุเกิดเมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสวรรคโลก

คดีที่ศาลจะต้องพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยนั้น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะต้องตรวจสำนวนอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ถ้ามีเหตุตามกฎหมายที่จะลดโทษให้จำเลยได้ ผู้พิพากษาก็จะพิจารณาลดโทษให้ดังกล่าวข้างต้น และหากจะต้องพิพากษาประหารชีวิต ผู้พิพากษาจะต้องนำสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาตรวจก่อนอ่านเสมอ และคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตจำเลย ศาลจะต้องส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา และคำพิพากษานั้นจะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง

นอกจากกระบวนการทางกฎหมายที่ศาลหรือผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยดังกล่าวข้างต้นแล้ว อุดมการณ์และจิตวิญญาณของความเป็นผู้พิพากษา เมื่อจะลงโทษประหารชีวิตจำเลยก็จะต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความเสียหายซึ่งเกิดจากการกระทำของจำเลย เช่น กระทำความผิดจนติดเป็นสันดานหรือไม่ ผลเสียอันเกิดขึ้นแก่ผู้ถูกกระทำ เช่น ข้อเท็จจริงในคดีข่มขืนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย

ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าผู้ตายเรียนจบปริญญาตรี กำลังจะสมรส ปลูกเรือนหออยู่ในหมู่บ้านที่เกิดเหตุ วันเกิดเหตุเข้าไปดูเรือนหอคนเดียวเพราะว่าที่เจ้าบ่าวต้องทำงาน ผู้ตายเดินผ่านบ้านที่จำเลยนั่งดื่มสุราอยู่ จำเลยเดินตามผู้ตายไปถึงเรือนหอและข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย และทำร้ายจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามประวัติจำเลยกระทำความผิดเช่นเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว ถูกลงโทษแต่ไม่หลาบจำ

ระหว่างสืบพยานในศาล ว่าที่เจ้าบ่าวร้องไห้อย่างเจ็บปวดหัวใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าก่อนที่ศาลจะใช้ดุลพินิจลงโทษประหารชีวิต นอกจากจะพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว ศาลยังต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลเสียหายจากการ
กระทำของจำเลย เช่น ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนภยันตรายอันจะเกิดแก่สังคมในอนาคตด้วย

ดังนั้น ในการที่จะมีคำพิพากษาประหารชีวิตบุคคลหนึ่งบุคคลใด จึงมิใช่เรื่องกระทำกันโดยง่าย กล่าวคือผู้ถูกประหารชีวิตมีโอกาสสู้คดีในศาลสถิตยุติธรรมถึง 3 ชั้น โดยผ่านการพิจารณาจากศาลหรือผู้พิพากษาครบองค์คณะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนต้องตรวจดูพยานหลักฐานในสำนวนอย่างละเอียดลออรอบคอบ ต้องส่งคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาตรวจก่อนอ่าน และถ้าเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น

แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังกำหนดให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อตรวจตราความถูกต้อง และยังทำการประหารชีวิตจำเลยไม่ได้ จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น (คดีถึงที่สุด)

การฆ่าสิ่งมีชีวิตนั้นถือว่าเป็นการผิดศีลห้า ข้อที่ 1.การที่ผู้พิพากษาสั่งประหารชีวิตจำเลยนั้น ผู้พิพากษาผู้นั้นกระทำการผิดศีลห้าหรือไม่ เรื่องนี้มีคำตอบ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนเมื่อพิพากษาประหารชีวิตจำเลยขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสวรรคโลก เมื่อผู้เขียนอ่านคำพิพากษาตอนเช้าเรียบร้อย ก็รีบไปพบเจ้าคณะตำบล และสอบถามความข้องใจในเรื่องนี้ ท่านเจ้าคณะตำบลอธิบายว่า “ท่านหัวหน้าไม่บาป เพราะเป็นการทำตามหน้าที่ และพิจารณาตามสำนวนโดยปราศจากอคติ และจำเลยนี้ได้กระทำกรรมชั่วมามาก ถึงเวลาที่จะต้องชดใช้กรรมที่เขาก่อขึ้นเองแล้ว ท่านหัวหน้าเพียงแต่เป็นผู้กำหนดเวลาให้เขาเท่านั้น” ซึ่งตรงกับที่ผู้เขียนได้รับฟังคำสอนของท่านพุทธทาส เมื่อผู้เขียนเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาทุกประการ

โทษประหารชีวิตสมควรจะยกเลิกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันพิจารณา แต่ยังมีเรื่องที่สังคมสมควรจะพิจารณาอยู่อีก นั่นก็คือโทษที่มาจากบทบัญญัติของกฎหมายพิเศษที่มิได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังให้อำนาจบุคคลที่จะสั่งลงโทษบุคคลอื่นได้โดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาเช่นเดียวกับศาล และผู้มีอำนาจสั่งการก็ไม่เคยทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีมาก่อน ไม่เคยได้รับการอบรมให้มีจิตวิญญาณและอุดมการณ์ เช่นเดียวกับผู้พิพากษาตุลาการ ทั้งยังให้อำนาจสั่งได้แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องฟังคำคัดค้านหรือโต้แย้งใดๆ ของบุคคลอื่นอีกด้วย

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image