การเมือง ล่อแหลม จุดเสี่ยง ‘คำถามพ่วง’ ถ่วง ‘ประชามติ’

ไม่ว่าจะผลักดัน “คำถามพ่วง” ขยายอำนาจให้กับ “ส.ว.” จะมาจากสมองก้อนเบ้อเริ่มของใครก็ตามภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”

เป็นความริเริ่มโดย “สปท.”

และได้รับการสนองรับอย่างเต็มพิกัดจาก “สนช.” ด้วยมติท่วมท้น สร้างความคึกคักให้กับทั้ง นายสมชาย แสวงการ และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์

จากจำนวนเสียง 150 กว่าๆ

Advertisement

เหมือนกับเป็น “ชัยชนะ” สะท้อนความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกแห่ง สนช.และ สปท.อย่างน่าชื่นชม

กระนั้น เพียงไม่กี่ชั่วโมง “ชัยชนะ” อันได้มาก็เริ่ม “แปรเปลี่ยน”

พลันที่เกิดเสียงท้วงติงจาก กกต.ด้านบริหารกิจการการเลือกตั้ง พลันที่เกิดเสียงคำรามจากบุคคลระดับรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

เสียงเหล่านี้ก่อนนี้ล้วนยืนอยู่ข้างเดียวกับ “คสช.”

จากนั้นอีกเพียง 1 วัน พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรรมการบริหารพรรคก็ตั้งโต๊ะแถลงยาวเหยียด เป้าเหมือนพุ่งไปยัง “คำถามพ่วง” แต่ก็กระทบกับ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ

ที่คิดว่า “ชัยชนะ” กลับกลายเป็น “จุดเสี่ยง” อันล่อแหลม

ลางแห่งหายนะแรกสุดมิได้มาจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เท่านั้น หากแต่ยังมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อ “คำถามพ่วง”

หมายความว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเดินสายชี้แจงเฉพาะตัว “ร่าง” รัฐธรรมนูญอันประกาศต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 29 มีนาคมเท่านั้น

ส่วน “คำถามพ่วง” เป็นเรื่องของ “สนช.”

ความหมายก็คือ หาก สนช.ต้องการให้ “คำถามพ่วง” เป็นที่กระจ่างก็จำเป็นต้องเดินสาย ชี้แจงด้วยตนเอง

อาจเป็นการร่วมมือระหว่าง “สนช.” กับ “สปท.”

เท่ากับว่า มิได้มีแต่เพียง นายสมชาย แสวงการ หรือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เท่านั้นที่จะต้องเดินสาย หากแต่อาจเชิญ สปท.อย่าง นายวันชัย สอนศิริ หรือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เข้ามามีส่วนร่วมในการชี้แจงกับประชาชน

ไม่ว่าจะเดินทางไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทย และ นปช.มีอิทธิพลในทางความคิดเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเดินทางไปยังภาคใต้ อันเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์มีอิทธิพลในทางความคิดเป็นอย่างสูง

เป็นการเดินสายที่คึกคักและหนักแน่นยิ่งทางการเมือง

แม้ นายสมชาย แสวงการ และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ จะมากด้วยความคึกคัก แม้ นายวันชัย สอนศิริ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ จะมากด้วยความคึกคัก

แต่ “ข้อสังเกต” จาก นายอลงกรณ์ พลบุตร ก็สำคัญ

“ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงมีความเสี่ยงมากขึ้นในการลงประชามติ มี 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย และ 1 กลุ่มการเมืองใหญ่คือ นปช.แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าไม่เห็นด้วย”

ความ “เสี่ยง” ในที่นี้มิได้อยู่ที่ว่าจะ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ประชามติ

“หากการออกเสียงประชามติเห็นชอบก้ำกึ่ง ไม่เด็ดขาด จะมีความเสี่ยงที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้ง ก่อความไม่สงบตามมาจนกระทบต่อโรดแมป”

เพราะว่าพรรคเพื่อไทยก็มีฐานเสียงไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็มีฐานเสียงไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน

รวมแล้วก็มากกว่า 20 ล้านเสียง เท่ากับเกือบร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติในขอบเขตทั่วประเทศ

ไม่เพียงแต่ “ร่าง” รัฐธรรมนูญเท่านั้นจะอยู่ในภาวะหืดขึ้นคอ หากประการสำคัญเป็นอย่างมาก “คำถามพ่วง” อันวาดหวังให้เป็นเหมือนกระดานหกของบรรดานักห้อยโหนจากขบวนการรัฐประหารก็อาจจะต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างสาหัส

“ความเสี่ยง” นี้จะกลายเป็นอีก “ปัจจัย” หนึ่งที่ล่อแหลมทางการเมือง

จากนี้จึงมองเห็นได้ว่า การผลักดัน “คำถามพ่วง” ไปกับประชามติจะดำเนินไปในแบบ “เตี้ยอุ้มค่อม”

ลำพังตัว “ร่าง” รัฐธรรมนูญก็สร้างข้อกังขาให้เป็นอย่างสูงอยู่แล้ว เมื่อมี “คำถามพ่วง” โยนเข้ามาอีกก็ยิ่งสร้างข้อกังขาและเสริมบทสรุปแห่งการสืบทอดอำนาจเข้าไปอีก

มีลักษณะทาง “ยุทธวิธี” แต่สะเทือนถึง “ยุทธศาสตร์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image