สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ‘ผ้าขาวม้า’ เข้าถึงคนรุ่นใหม่

เพื่อส่งเสริม สนับสนุนงานผ้าฝ้ายศิลปาชีพให้เป็นที่ยอมรับ และผลักดันให้เข้าไปอยู่ในกระแสความนิยมในทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อสามารถสร้างยอดขายได้อย่างเป็นรูปธรรม

SACICT จัดงานฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 11 โดยได้รับพระกรุณาจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นผ้าฝ้ายศิลปาชีพนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พระองค์มีพระราชดำริสร้างอาชีพเสริมด้วยงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านมีภูมิปัญญา ความถนัด และใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยใช้แรงงานให้เกิดประโยชน์

Advertisement

นอกจากนี้ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการรับซื้อผ้าฝ้าย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพสกนิกรของพระองค์ จึงเป็นงานหัตถกรรมที่ส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรและกลายเป็นอาชีพที่ตกทอดสู่ลูกหลาน สร้างงานและรายได้ให้มีความยั่งยืน

“SACICT เล็งเห็นว่า คนเมืองยุคใหม่ในปัจจุบัน ไม่เคยใช้ผ้าขาวม้า แต่รู้จักจากสื่อต่างๆ เท่านั้น จึงส่งเสริมให้คนไทยรุ่นใหม่หันมาสนใจและใช้ผ้าขาวม้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปัจจุบัน พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้คนไทยสามารถเข้าถึงเข้าใจ และใช้ผ้าขาวม้าในบริบทที่หลากหลายมากขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะสร้างกระแสความสนใจ กระตุ้นการใช้ผ้าขาวม้าในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะการเป็น “ของที่ระลึกแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของประเทศไทยต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับกลุ่มต่างชาติ ทั้งนี้ SACICT ในฐานะหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนและขานรับนโยบายของรัฐบาลขับเคลื่อนผ้าไทยสู่ตลาดโลก” นางอัมพวันกล่าว

นางอัมพวัน พิชาลัย (ขวา)

สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผ้าขาวม้าไทยที่เข้ากับชีวิตคนรุ่นใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image