สถานีคิดเลขที่12 : ‘หมูป่า ยูไนเต็ด’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ชื่อของบทความนี้ดูเหมือนจะ “ไม่ถูกต้อง”

แต่จริงๆ แล้ว ผู้เขียนอยากจะขออนุญาตดัดแปลงชื่อทีม “หมูป่า อะคาเดมี่” เสียใหม่ เป็น “หมูป่า ยูไนเต็ด”

เมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์หลายด้าน ที่ผนวกรวมกัน ณ ถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย

อย่างที่หลายคนทราบว่า สถานการณ์ “ติดถ้ำ” ของ “13 ชีวิตทีมหมูป่า” นั้นเกิดขึ้นขณะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซียพอดี

ADVERTISMENT

มองเผินๆ ระยะแรก คล้าย “บอลโลก” ก็จะแข่งขันกันต่อไป ส่วน “คนไทยส่วนใหญ่” ก็เทใจช่วย “ทีมหมูป่า” อยู่ภายในประเทศ

ราวกับทั้งสองเรื่องเป็นคนละประเด็น หรือเป็นเรื่อง “โกลบอล” กับ “โลคอล” ที่แยกขาดออกจากกันโดยเด่นชัด

ADVERTISMENT

ทว่ายิ่งภารกิจช่วยชีวิต “13 สมาชิกทีมหมูป่า” เริ่มงวดเข้าสู่บทตอนสำคัญ หลังเวลาผ่านไปหลายสิบวัน

กรณี “ติดถ้ำหลวง” ก็ยิ่งมิใช่เรื่องของท้องถิ่น

หากได้พัฒนาจาก “ปัญหาระดับจังหวัด” ไปสู่ “ความวิตกกังวลระดับประเทศ” ก่อนจะขยายกลายเป็น “ความห่วงใยในระดับโลก”

สำนักข่าวต่างประเทศต่างรายงานสถานการณ์ที่เชียงรายเป็นข่าวสำคัญ มีการลงรายละเอียดเจาะลึกและพยายามมองหาความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือ “13 ชีวิต” อย่างกว้างขวาง

ขณะเดียวกัน ก็มีอาสาสมัครต่างชาติจำนวนมาก ทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เดินทางมาปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ ที่ถ้ำหลวง

ดังที่หลายคนรับรู้ นักดำน้ำกลุ่มแรกที่เข้าไปพบ 13 ชีวิตบนเนินนมสาว นั้นคือ ทีมนักดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ

นอกจากนี้ หลายฝ่ายที่อยู่นอกประเทศไทยก็มีความกระตือรือร้นอยากจะให้ความช่วยเหลือ “13 สมาชิกทีมหมูป่า” ตามศักยภาพเฉพาะของตนเอง

ตั้งแต่เด็กน้อยลูกครึ่งดัตช์-ไทย ผู้เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ เพื่อวอนขอให้นายกฯจัดส่งบุคลากรด้านน้ำ ไปช่วยเหลือภารกิจที่ถ้ำหลวง

จนถึง “อีลอน มัสก์” นักธุรกิจด้านเทคโนโลยีชื่อดัง เจ้าของกิจการ “เทสลา สเปซเอ็กซ์” ที่ส่งทีมงานและไอเดียใหม่ๆ มาร่วมสมทบในภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่า

ในสนามฟุตบอลเอง ถ้า “ฟุตบอลโลก” มีนิยามกว้างกว่าการแข่งขันฟีฟ่า เวิลด์คัพ 2018 ที่รัสเซีย แต่หมายถึง “ประชาคมฟุตบอลนานาชาติ” แล้ว

“ฟุตบอลโลก” กับการช่วยชีวิต “13 สมาชิกทีมหมูป่า” ก็กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ที่รัดร้อยเชื่อมโยงเข้าหากันจนแน่นแฟ้นอย่างน่าทึ่ง

ถ้าพิจารณาจากการทำหนังสือเชิญ “13 นักเตะและโค้ชทีมหมูป่า” ไปร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดชิงชนะเลิศ โดย จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า

การให้กำลังใจทีมหมูป่า โดยทีมชาติญี่ปุ่น, จอห์น สโตนส์ ปราการหลังทีมชาติอังกฤษ และโรนัลโด้ อดีตซุปเปอร์สตาร์ผู้พาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2002

เช่นเดียวกับบรรดาสโมสรฟุตบอลชื่อดังที่ต่างสื่อแสดงการมี “ความรู้สึกร่วม” กับชะตากรรมของ “13 สมาชิกทีมหมูป่า”

ทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ หรือที่มาในนามลีกอย่าง “ลาลีก้า สเปน”

ท่ามกลางภาวะฉุกละหุก มีความไม่ลงรอยกันบ้างตามประสาภารกิจขนาดใหญ่ ที่หลายฝ่ายต่างเข้ามามีส่วนร่วม จากหลายมุมมอง ความเชื่อ วิธีคิด และประสบการณ์

รวมถึงการเกิดเหตุเศร้าสลด เมื่อมีอาสาสมัครหนึ่งรายต้องสูญเสียชีวิต ระหว่างปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตคนอื่น

แต่อย่างน้อย ในภาพใหญ่สุด พวกเราทุกคนต่างได้ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานของการแสดงออกถึงความรู้สึกเชิงมนุษยธรรม อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

เพื่อช่วยเหลือ “13 ชีวิตทีมหมูป่า” ในถ้ำหลวง

นี่เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์น้อยครั้ง ที่สามารถเชื่อม “โลก” เข้ากับ “ไทย” ได้อย่างแนบสนิท

คำว่า “ยูไนเต็ด” นั้นหมายถึงการมาร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ โดยมีวัตถุประสงค์หรืออารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน

ถ้ายึดตามความหมายดังกล่าว “หมูป่า ยูไนเต็ด” ก็น่าจะเป็นชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับทีมหมูป่า

หรืออาจใช้อธิบายปรากฏการณ์ภาพกว้าง ที่ความช่วยเหลือและน้ำใจไมตรีต่างหลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง ไปสู่ “13 ชีวิต” ในถ้ำหลวง

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image