เจรจาเอฟทีเอไทย–ศรีลังกา รับแนวคิด”บิ๊กตู่”เร่งลดภาษี ก.ย.นี้ชัดเจน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวภายหลังการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับศรีลังกา ครั้งแรก ณ กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม  โดยตน เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และ นาย เค เจ วีระสิงห์ ที่ปรึกษากระทรวงยุทธศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศศรีลังกา เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายศรีลังกา ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปให้เริ่มการเจรจาใน 13 ประเด็น อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัย การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

พร้อมกับตกลงตั้งคณะทำงาน (Working Groups) ขึ้น 9 คณะ สำหรับเจรจาประเด็นเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดปฏิทินการเจรจาในอนาคต โดยตกลงประชุมกันทุกๆ 2 – 3 เดือน และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2563 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายจาก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน กล่าวว่า หลังจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องแลกเปลี่ยนสถิติทางการค้า อัตราภาษี กฎระเบียบทางการค้าระหว่างกัน ตลอดจนร่างข้อบทในเรื่องต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา ครั้งที่ 2 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ เดือนกันยายนนี้

“ แนวคิดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้2ฝ่ายหยิบยกรายการสินค้าเร่งลดภาษี(Early Harvest Scheme)ขึ้นหารือก่อนเพื่อลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอให้การเจรจาครบทุกด้าน เพราะการเจรจาเอฟทีเอ กว่าจะบรรลุเป้าหมายและลงนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ จะใช้เวลา2-3 ปี ก็มีการหารือกัน ซึ่งประชุมครั้งต่อไปน่าจะชัดเจนว่าจะใช้แนวทางEarly Harvest หรือไม่ เพราะต้องดูกลุ่มสินค้าที่2ฝ่ายต้องการให้ลดในขั้นต้นนั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน ”

Advertisement

ทั้งนี้ ศรีลังกา ถือเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6 % ต่อปี มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่ทันสมัย และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางทะเล (Marine Hub) ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ยุโรป อเมริกาเหนือ และแอฟริกา พร้อมกันนี้ ศรีลังกายังมีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเป็นฐานการผลิตและการลงทุนของไทยในหลายอุตสาหกรรมศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การประมง อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากศรีลังกามีลักษณะทางภูมิประเทศที่สวยงาม ประกอบกับมีสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมที่สมบูรณ์ และเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระเขี้ยวแก้ว จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาศรีลังกาเพิ่มขึ้นทุกปี

ในปี 2560 ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าระหว่างไทยและศรีลังกามีมูลค่า 512.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.7% จากปี 2559 โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 442.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากศรีลังกา 70.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปัจจุบันมีมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2558

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image