อนุสรณ์สันติภาพ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ในสายตาของคนนอกแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่น่าทึ่งมาก

เพราะอเมริกานั้นเคยทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2488 จนชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตแบบตายเกลื่อน มีทั้งไปทันทีและป่วยทรมานจากพิษของรังสี

เป็นคนในฮิโรชิมาราว 140,000 คน และในนางาซากิอีก 74,000 คน

แต่ญี่ปุ่นกลับญาติดีกับอเมริกามาก นานๆ ทีจะมีข่าวความด้านลบออกมา ส่วนใหญ่เป็นความไม่พอใจของชาวบ้านบนเกาะโอกินาวา เพราะมีฐานทัพสหรัฐไปตั้งอยู่ และก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่

Advertisement

แต่ในระดับรัฐบาลแล้วสองประเทศนี้มิตรภาพแนบแน่นกันมาตลอด ไม่มีภาพของความเคียดแค้นอาฆาต

ในสัปดาห์นี้ นายจอห์น แคร์รี เพิ่งจะเดินทางไปคารวะอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลสหรัฐ นับจากเหตุการณ์นี้ผ่านพ้นมานานกว่า 7 ทศวรรษ

ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงระดับนี้มาเยือน เพราะเกรงถึงความล่อแหลมทางการเมืองที่อาจไปสะกิดแผลเก่าและคำถามเดิมว่าเหตุใดสหรัฐจึงกล้าใช้อาวุธร้ายแรงเช่นนั้นต่อชาวญี่ปุ่น

Advertisement

กระทั่งเริ่มมีเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น (จอห์น รูส) ไปร่วมพิธีรำลึกของฮิโรชิมาเมื่อวาระครบรอบ 65 ปี และแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ก่อผลลบใดๆ จึงเป็นที่มาของการเยือนในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในครั้งนี้

ไม่เท่านั้น นายแคร์รียังส่งสัญญาณว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ อาจจะมาเยือนอนุสรณ์สันติภาพแห่งนี้ด้วยเช่นกันในเดือนหน้า เพราะมีวาระต้องมาประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 7 ที่ฮิโรชิมา

เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อได้ว่าจะเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพราะจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่มาเยือนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา

นอกเหนือจากที่โอบามาจะเหมาะแก่การสร้างประวัติศาสตร์นี้แล้ว บรรยากาศแห่งยุคสมัยก็เอื้อว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้นำของอเมริกาจะได้มาเห็นภาพและความสูญเสียของชาวญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ด้วยตนเอง

ในยุคสมัยที่ผู้คนตระหนักได้ในแนวทางเดียวกันว่า โลกไม่ควรใช้อาวุธร้ายแรงเช่นนั้นอีกแล้ว สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเคยเผชิญมานั้นไม่ใช่ว่าใครจะทำใจได้อีก

บทเรียนจากกรณีฮิโรชิมาและนางาซากิเป็นเครื่องเตือนใจระดับสากล ว่าโลกไม่ควรปล่อยให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคน ชุมชน และประเทศ บานปลายไปถึงขั้นต้องทำลายล้างกัน

แม้ว่าคำถามว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฮิโรชิมาและนางาซากิช่วยทำให้สงครามจบลงเร็วขึ้นหรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงมาถึงปัจจุบัน

แต่เมื่อสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเรียนรู้จากบทเรียนนี้ รวมถึงเรียนรู้ถึงสิทธิมนุษยชน การเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ คำถามนั้นก็ไม่จำเป็นอีก

ในชุมชนและสังคมของแต่ละประเทศ เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง ทางออกที่ควรเลือกคือการเจรจาทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

ต้องสำนึกถึงความสำคัญของการรักษาชีวิต ไม่ใช่เอะอะว่าใครที่ไม่ใช่พวกตน ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของตน คือคนไม่ดีและสมควรตาย

ไม่เช่นนั้นจะเหมือนไม่เห็นคุณค่าชีวิตที่สูญเสียไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image