สภาพการเมือง ‘การศึก’มิหน่าย‘เล่ห์’ ก่อน‘เลือกตั้ง’

ไม่ว่าจะเป็น การปล่อย “พลังดูด” เข้าใส่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “พลังดูด” รุกคืบไปยังสมาชิกและมวลชนของ นปช.กำลังให้บทเรียนอย่างแหลมคมยิ่ง

เป็นบทเรียนในเรื่อง “การต่อสู้”

พลันที่กระบวนการ “รัฐประหาร” เข้ามา การต่อสู้ในทาง “การเมือง” ที่ไม่หลั่งเลือด ก็ค่อยๆ พัฒนาเข้าไปยังพื้นที่ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทุกลมหายใจล้วนอยู่ในพรมแดนแห่งการสัประยุทธ์

Advertisement

แม้กระทั่งความพยายามในการเจรจา ในการต่อรอง อันถือกันว่าเป็นพื้นที่ทาง “การทูต” นั่นก็คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้

คล้ายกับจะเป็นการยอมจำนน แต่เอาเข้าจริง มิใช่

ที่ซุนวูสรุปอย่างรวบรัดว่า “การศึกมิหน่ายเล่ห์” นั้นถูกต้องอย่างยิ่ง ไม่ว่าการศึกที่ไม่หลั่งเลือด ไม่ว่าการศึกที่หลั่งเลือดก็ตาม

Advertisement

ใครก็ตามที่คลายความระมัดระวัง นั่นคือ ประมาท

การมองกระบวนการต่อสู้อย่ามองอย่างตัดตอนเอาแค่เพียงเมื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

ก็เหมือนอย่างที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้สรุป

นั่นก็คือ บทบาทของ “กลุ่มสามมิตร” มีมาตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแล้ว

สัมผัสได้จากพรรคเพื่อแผ่นดิน สัมผัสได้จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย

ในความเป็นจริง ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดินอาจแยกตัวแล้วแยกขาดไปเลย แต่กล่าวสำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตยก็ยังย้อนกลับมาอีก

ไม่ว่าจะในพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะในพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน หากมองบทบาทของพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็อย่ามองแค่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

เพราะภายใน “สามมิตร” ยังมีอีก 1 ส.

จากนี้จึงเห็นได้ว่า การดูด นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ตามมาด้วยการดูด นายจำลอง ครุฑขุนทด และอาจจะตามมาด้วย นายสุพล ฟองงาม

มิได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

คนเหล่านี้มิได้ดำรงอยู่แต่เพียงสถานะแห่ง “อดีต ส.ส.” ตรงกันข้าม ประทับป้ายสถานะแห่ง “อดีตรัฐมนตรี” รวมอยู่ด้วย

และเมื่อใน 100 กว่ารายชื่อ มี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์

อย่าได้แปลกใจหากว่า “กลุ่มสามมิตร” จะรุกคืบไปยังเครือข่าย นปช. และก็ดำเนินไปเหมือนกับการต่อสายกับอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

นั่นก็คือ เริ่มจาก “ขอนแก่นโมเดล”

เห็นหรือยังว่านี่คือ การนำเอาคดีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาต่อยอดและขยายผลอย่างทรงประสิทธิภาพ

แฝงมากับ “อำนาจรัฐ” แฝงมากับ “อำนาจเงิน”

พรรคเพื่อไทยหลังจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเป็นพรรคการเมืองที่มิได้อยู่ในสถานการณ์ ปกติ หากแต่อยู่ภายใต้สถานการณ์ “สู้รบ”

ไม่สามารถมองข้ามสัจจะแห่ง “การศึกมิหน่ายเล่ห์” ไปได้

ยิ่งเป็นการดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคำสั่ง คสช.ที่ไม่ยอม “ปลดล็อก” พรรคการเมือง ยิ่งเท่ากับถูกตรึงอยู่ในโซ่ตรวนอันแข็งแกร่ง

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมต้องการนักการเมืองพันธุ์พิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image