‘ดีแทค’ ห่วงการจัดสรร 5G แนะแก้กฎหมาย-หาวิธีที่เหมาะสม ยันโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ

เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวในสัมมนาเรื่อง ทำอย่างไรให้ “5G เทคโนโลยีพลิกโลก” เกิดขึ้นจริงในไทย ในช่วงการเสวนาที่ 2 ว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องการใช้งาน 5G ทั้งการคำนึงการใช้งานว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ ปัญหาอุปสรรคคืออะไรบ้าง อย่างที่ผ่านมาการใช้ 3G ช้าไป 10 ปี หากการใช้ 5G จะเริ่มต้นใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ (คอมเมอร์เชียล) ในปี 2563 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ ต้องคำนึงถึงว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของหลายภาคส่วนร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ (โอเปอเรเตอร์) ที่จะต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้งาน 5G ได้อย่างที่มีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด

นายนฤพนธ์กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังอิ่มตัวโดยเฉพาะในเรื่องวอยซ์ แต่เทคโนโลยี 4G ยังต้องลงทุนกันอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องมองถึงกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นหรือยูสเคสในตลาดของผู้ผลิตเทคโนโลยี (เวอร์ทิคอล มาร์เก็ต) ว่าอะไรเป็นจุดขับเคลื่อน 5G ได้ อย่างเรื่องของการการจัดสรรและการอนุญาตใช้คลื่นความถี่หรือการใช้สเปคทรัม ทางกสทช.ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้กันเป็นหลักพันเมกะเฮิรตซ์ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มใช้ 5G ได้จริง รัฐบาลต้องคำนึงถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ว่าจะใช้วิธีอะไร ราคาเท่าไหร่ เนื่องจากปัญหาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในช่วงที่ผ่านมาคือราคาคลื่นความถี่แพงมาก ถ้าต้องใช้ 5G เป็นร้อยเมกะเฮิรตซ์แต่ราคาเท่าเดิม ต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นว่าจะเป็นได้หรือไม่ นอกจากนี้ต้องคำนึงการอำนวยความสะดวกของการติดตั้งในอาคารต่างๆ เนื่องจาก 5G ต้องใช้สมอลเซลล์ รวมถึงกลไกการได้รับใบอนุญาตและการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน

“นอกจากเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ต้องแก้กฎหมายสเปคทรัมด้วย เนื่องจากสเปคทรัมยังไม่ชัดเจน มีปัญหาเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงการต้องแชร์และใช้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับยังไม่รู้ราคาการประมูลคลื่น และยังไม่นับรวมปัญหาในทางเทคนิคที่การใช้สเปคทรัมอาจจะกำหนดใช้สำหรับบางย่านความถี่เท่านั้น ทั้งนี้ย้ำว่า 5G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศที่จะต้องร่วมกับขับเคลื่อน นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม” นายนฤพลกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image