เดินหน้าโครงการคุ้งบางกะเจ้า ผนึกภาครัฐ-เอกชน-ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต-สิ่งแวดล้อม (คลิป)

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม ที่สวนสุขภาพคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน กล่าวถึงความสำคัญในการร่วมมือกันสร้างโครงการนี้ว่า คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า 12,000 ไร่ มีคุณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สงวนพื้นที่นี้ไว้เป็นพื้นที่สีเขียว จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจาก 34 องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงชุมชน 6 ตำบล ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยการน้อมนำ ศาสตร์พระราชา แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาสืบสานและขยายผลตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นหลักทำงานสำคัญ

นายสุเมธ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างมากที่หน่วยงานเอกชน ภาครัฐและชุมชน ร่วมมือกันรักษา ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้ยั่งยืนต่อไป โดยความร่วมมือขับเคลื่อนใน 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง การจัดการขยะ การส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยว และการพัฒนาเยาวชนและการศึกษา

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าคณะพื้นที่สีเขียว กล่าวว่า การจะทำภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จ จะต้องเป็นไปตามศาสตร์พระราชาก็คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยเป้าหมายแรกเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ และทำความคุ้นเคย ความรู้จัก และรับฟังปัญหาจากชุมชนในพื้นที่ ว่ามีความต้องการอย่างไร ซึ่งทางกรมป่าไม้ได้เริ่มต้นนำร่องไปก่อนแล้ว โดยการจัดให้มีพื้นที่ปลูกป่า เป็นสวนป่าเศรษฐกิจ ปลูกพืชเชิงเศรษฐกิจ 400 ไร่ ใช้งบกรมป่าไม้ส่วนหนึ่ง และจัดหาต้นกล้าที่มาจากชุมชนในพื้นที่ ให้ชุมชนมีสวนร่วมในการเพาะปลูก

นายเทวินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือเนื้อที่ 6,000 ไร่นั้น จะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว มีคณะทำงานลงพื้นที่ไปพูดคุยชุมชน มีภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเหลือ เช่น ฟื้นฟูสวนเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยตรง นอกจากนี้ยังระบุว่า ความตั้งใจและความพยายามเกิดขึ้นแล้วถือว่าเป็นสัญญาณดี โดยมีเป้าหมายภานใน 5 ปี จะพัฒนาพท้นที่มีเขียว 6,000 ไร่

Advertisement

ทางด้านนายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะหัวหน้าคณะการจัดการน้ำ ระบุว่า ก่อนพูดถึงเป้าหมายอยากให้เข้าใจปัญหาและสาเหตุก่อน สำหรับที่คุ้งบางกะเจ้านั้น มีคลองอยู่ 32 คลอง แต่ใช้งานไม่ได้เลย รวมถึงมีประตูระบายน้ำ 64 ประตู ซึ่งอบจ.กำลังซ่อมใหม่ทั้งหมด หลังซ่อมเสร็จแล้ว ต้องดูว่าจะเปิด-ปิดประตูอย่างไรให้แก้ปัญหาน้ำเค็มได้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งที่ตามมาที่สำคัญที่สุดก็คือพื้นที่หายไปหลายไร่ในแต่ละปีเนื่องจากถูกกัดเซาะ อาจจะส่งผลให้มีปัญหาตามมาในอนาคต

นายรอยล กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญสุดคือคนที่นี่เพราะเป็นเป้าหมายในการพัฒนา สวนผลไม้ที่เคยเป็นรายได้หลักของชุมชนหายไปเหลือเพียงพันกว่าไร่ ชาวสวนจาก 100% เหลือแค่ 10% ในปัจจุบันเพราะคนไปทำงานนอกพื้นที่ นอกจากนั้นก็ต้องย้อนกลับมาดูเรื่องน้ำ ถ้าสังคมจะมั่นคงยั่งยืน โดยมองจากประสบการณ์ ถ้าต้องการวางแผนโดยคิดถึงคนต้องใช้เวลา 10-20ปี แต่ถ้าคิดถึงสภาพแวดล้อม ต้องใช้เวลา 20-100ปี และถ้าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ต้องเพิ่มน้ำ อีกประมาณ 4ล้าน ลบ.ม. ถึงจะเพียงพอพอกับพื้นที่นี้ ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะเห็นคลองสวย มีการท่องเที่ยว มองเห็นตลาด แต่กลับไม่มีการใช้งานคลอง นี่จึงเป็นเป้าหมายที่มอง ถ้าทำได้ น้ำเค็มที่เคยลุกเข้าพื้นที่ซึ่งปัจจุบันได้ประผลกระทบนานถึง8เดือน จะเหลือแค่ 3 เดือนเหมือนในอดีต

ทั้งนี้นายคงกระพัน อินทรแจ้ง จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าคณะการจัดการขยะ กล่าวว่า ใช้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาบริหารจัดการ โดยนำขยะอินทรีย์นำมาแปรรูป สร้างมูลค่าชุมชน ส่วนขยะพลาสติก จะรีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่สินค้าที่สร้างรายได้ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เพื่อขายให้นักท่องเที่ยว รวมถึงสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ใช้ความรู้ความสามารถท้องถิ่นมาสร้างประโยชน์

ต่อมาเวลา 16.30 น. ผู้บริหารองค์กรสมาชิกโครงการทั้ง 34 องค์กรและผู้แทนชุมชน ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 จำนวน 66 ต้น บริเวณริมรั้วสวนสุขภาพคลองลัดโพธิ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 28 ก.ค. นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image