สรุปง่ายๆ เขื่อนแตกที่ สปป.ลาว กระทบไทยหรือไม่!

ภาพจาก REUTERS

จากกรณีที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสูงบอละเวน แขวงอัตตะปือ ห่างจากเมืองปากเซ สปป.ลาว ประมาณ 80 กิโลเมตร ได้เกิดรอยแตกบริเวณสันเขื่อน ส่งผลให้มวลน้ำกว่า 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักออกท่วมพื้นที่ใกล้เคียง บ้านเรือนนับพันหลังเสียหายหนัก ได้สรุปถึงสถานการณ์ครั้งนี้ ดังนี้

1.เขื่อนที่แตกในลาวคือเขื่อนอะไร?
– เขื่อนที่แตกคือเขื่อนเซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เขื่อน ของกลุ่มเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (ทั้ง 5 เขื่อนมีความจุรวมกัน 5,000 ล้าน ลบ.ม.)

2.เขื่อนเซน้ำน้อยมีความจุน้ำเท่าไร?
– เขื่อนเซน้ำน้อยมีความจุ 1,024 ล้าน ลบ.ม.

3.มวลน้ำไหลออกจากเขื่อนเท่าไร?
– น้ำที่ไหลออกจากเขื่อนเซน้ำน้อย ทั้งหมดประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม.

Advertisement

4.แล้ว 600 ล้าน ลบ.ม. มันเยอะขนาดไหน ?
– เปรียบเทียบง่ายๆ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ของไทย มีความจุประมาณ 960 ล้าน ลบ.ม. ลองแบ่งน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ออกเป็น 3 ส่วน หากปล่อยน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ออกไป 2 ส่วน จะเท่ากับน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนเซน้ำน้อยขณะนี้ (แต่อย่าลืม ฝนที่ยังตกต่อเนื่องเรื่อยๆ ตกเพิ่มเท่าไร ไหลออกเท่านั้น)

5.ทำไมน้ำไม่ไหลออกหมดทั้ง 1,024 ล้าน ลบ.ม. ?
– เพราะส่วนที่แตกหรือขาด คือ “สันเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ” แค่บางส่วน ไม่ได้พังทั้งหมดถึงพื้นล่างของเขื่อน (สันเขื่อนปิดช่องเขาต่ำ หมายถึง สันเขื่อนดินที่ก่อสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมระหว่างภูเขากับภูเขาให้จุน้ำได้มากขึ้น เพราะความสูงแต่ละเขาไม่เท่ากัน จึงต้องสร้างสันเขื่อนดินให้เชื่อมต่อกัน)

6.แล้วสันเขื่อนปิดช่องเขาต่ำพังเยอะแค่ไหน?
– จุดที่สันเขื่อนปิดช่องเขาต่ำพัง ยาวประมาณ 200-300 เมตร (จากสันเขื่อนปิดช่องเขาต่ำช่วง D ที่ยาวทั้งหมด 800เมตร) ส่วนความสูงจุดที่แตกประมาณ 16 เมตร ทำให้น้ำไหลออกมาอย่างแรงและเร็วมาก ชาวบ้านหลายคนจึงหนีไม่ทัน

Advertisement

7.มีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือเดือดร้อนมากเท่าไร?
– ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ (25/07/61)
พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย สูญหายอีกประมาณ 200-300 คน / ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย และปัจจัย 4 ด้านอื่นๆ ประมาณ 6,600 คน

8.เขื่อนเซน้ำน้อยแตกส่งผลกระทบทำให้น้ำท่วมถึงไทยมั้ย?
– ไม่ส่งผลกระทบกับไทย เพราะน้ำจะไหลลงทางใต้ของลาว ไปลงแม่น้ำโขงของกัมพูชา และจะไหลไปที่โฮจิมินห์ของเวียดนามต่อไป

9.ทำไมระดับน้ำในแม่น้ำโขงในภาคเหนือและอีสานตอนบนของไทยสูงขึ้น?
– เพราะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง มาเจอกับอิทธิพลพายุเซินติญ ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ สปป.ลาวตอนบนและตอนกลาง รวมทั้งภาคเหนือและอีสานของไทย แต่น้ำฝนที่ตกในลาว จะไหลมาลงที่แม่น้ำโขง บริเวณเชียงคาน จังหวัดเลย นครพนม หนองคาย และจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ติดโขง จึงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงของไทยในหลายจังหวัดสูงขึ้น ไม่เกี่ยวกับเขื่อนแตก และระดับจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 27 กรกฎาคม เนื่องจากจะมีฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องตลอดทุกวัน

10.มีใครร่วมลงทุนสร้างเขื่อนบ้าง
– บริษัทร่วมลงทุนสร้าง 5 กลุ่มเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยจำนวน 4 บริษัท คือ
1.บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26%
2.บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25%
3.บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25%
4.บริษัท Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24%

เกร็ดความรู้ :
– เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความจุ 10,500 ล้าน ลบ.ม.

– เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขื่อนประเภทหินทิ้ง แกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความจุเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 18,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนเซน้ำน้อยประมาณ 30 เท่า
(แอบสงสัยเอง เลยถามนักวิชาการเป็นความรู้ ถ้าสมมุติ เขื่อนนี้เกิดเหตุคล้ายเขื่อนเซน้ำน้อยขึ้นมา ผลเป็นอย่างไร คำตอบคือ กทม.ท่วม 2 เมตร กาญจนบุรีน่าจะมีคลื่นสูง 40-50 เมตร เรื่องหนีคงไม่ต้องพูดเยอะ แต่ย้ำ แค่สมมุติ!!! เพราะเขื่อนในไทยยังแข็งแกร่ง ทนทานดี)

คนไทยมั่นใจได้ เขื่อนขนาดใหญ่ของเรา ยังแข็งแรงมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image