สภานายจ้างห่วงบัณฑิตกว่าแสนรายตกงาน เร่งศึกษาช่วยเหลือ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ในฐานะรองประธานสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบเทคโนโลยีที่จะมีต่อแรงงานไทยในปัจจุบันและอนาคต ว่า อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อประเมินผลกระทบ คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มและมาตรการรับมือต่อไป

นายธนิตกล่าวว่า เบื้องต้นได้เปิดระดับรับฟังความคิดเห็น พบว่า มีแนวโน้มภาคธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนด้วยการนำเทคโนโลยี ระบบหุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิตและบริการมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น แม้แต่รายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี)จำนวนมาก ก็เริ่มหันมาติดตั้ง ส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะสะสมมากขึ้น

“ภาคธุรกิจต่างชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่ต้องดึงเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยน อาทิ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกำลังลดกำลังคนเพราะหันไปใช้เทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ทำให้สาขาธนาคารจะถูกยุบ ห้างสรรพสินค้า หันมาใช้ระบบค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจใหญ่ๆที่เน้นใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงาน” นายธนิตกล่าว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2560 มีจำนวน 2.19 ล้านคน เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีประมาณ 3.2 แสนคน ส่วนใหญ่ 58.75% จบปริญญาตรีสาขาสังคมศาสตร์ 25.77% จบสาขาวิทยาศาสตร์ 7.07% จบสาขาศิลปศาสตร์ 4.36% จบสาขาเทคโนโลยี 3.35% จบสาขาเกษตรกรรม และมีการประเมินผู้สำเร็จการศึกษาปี 2561 ไว้ 1.82 ล้านคน ปี 2562 จำนวน 1.67 ล้านคนและปี 2563 จำนวน 1.8 ล้านคน

Advertisement

แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. กล่าวว่า ผลสำรวจเดือนพฤษภาคม 2561 มีผู้ว่างงาน 4.02 แสนคนคิดเป็น 1% ของอัตราการว่างงาน โดยพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีมีการว่างงานมากสุดกว่า 1.7 แสนคน กระทรวงแรงงานจึงร่วมกับเอกชนแก้ไขปัญหาการว่างงานของผู้ที่จบปริญญาตรีระยะเร่งด่วน โดยจะจัดหารองรับบัณฑิตประมาณ 1 แสนคนโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image