อธิบดีกรมเจ้าท่าเผยแผนกู้ ‘เรือฟินิกส์’ เตรียมอุปกรณ์ใต้น้ำเกือบสมบูรณ์แล้ว

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ติดตามความคืบหน้าการนำอุปกรณ์ในการกู้เรือลงไปติดตั้งใต้น้ำ เพื่อเตรียมการกู้เรือฟินิกส์ ซึ่งขณะนี้มีคืบหน้าแล้วกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยวางแผนจะทำการกู้เรือฟินิกส์ในสัปดาห์หน้า

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงแผนการกู้เรือฟินิกส์ ว่า ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย กำหนดให้กรมเจ้าท่าออกคำสั่งให้เจ้าของเรือ คือ เรือฟินิกซ์ เป็นผู้กู้เรือ โดยกรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งไปตั้งแต่หลังวันที่เรือจม เพื่อให้เจ้าของเรือเป็นผู้กู้ ทั้งนี้เจ้าของเรือได้รับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่าได้ให้เวลากับเจ้าของเรือ 20 วัน ในการกู้เรือขึ้นมาให้ได้ แต่เจ้าของเรือได้แต่งตั้งตัวแทนขึ้นมาและแจ้งว่าจะไม่ดำเนินการกู้เรือดังกล่าว ดังนั้นเมื่อครบกำหนดและเจ้าของเรือไม่ดำเนินการกู้เรือ ทางกรมเจ้าท่าจะดำเนินการกู้เรือขึ้นมาให้ได้ โดยมีการวางแผนการกู้เรือ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมเป็นต้นมา ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ นักประดาน้ำ โดย 3 วันที่ผ่านมา มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ ส่งนักประดาน้ำ และทีมงานประมาณ 20 คน ลงไปติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ใต้น้ำ ในการลงไปสำรวจเรือใต้น้ำพบว่า ขณะนี้มีทรายเข้าไปในเรือประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของตัวเรือ สภาพเรือด้านท้ายยุบเสียหาย ความลึกของน้ำประมาณ 45 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ลึกมาก ความยากคือการลงไปทำงานใต้น้ำซึ่งจะต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความชำนาญ ขณะนี้ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ใต้น้ำได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์แล้ว และคาดว่าวันนี้จะไปติดตั้งอุปกรณ์ได้นำเพิ่มเติม ซึ่งก็จะแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ในงานใต้น้ำ

ส่วนงานต่อไปคืองานที่จะต้องนำอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปเกี่ยวคล้องกับงานของใต้น้ำ การที่จะยกเรือขึ้นมา ต้องใช้อุปกรณ์หลักๆ 3 ชนิด คือ บอลลูน ความจุ 10,000 ลิตร ที่จะนำลงไปยกเรือใต้น้ำ และกว้านเป็นสลิง ที่จะยกผูกติดกับเรือและยกขึ้นมา พร้อมทั้งเครนตัวใหญ่จะทำการค่อยๆยกเรือขึ้นมา ซึ่งในแผนการที่กำหนดไว้ คาดว่าสุดสัปดาห์นี้จะสามารถนำเรือขึ้นมาได้ และจะนำเรือไปขึ้นคาน เพื่อตรวจสอบต่อไปว่าเรือนั้นได้มีความสมบูรณ์ หรือไม่ อย่างไร มีการดัดแปลงเรือหรือไม่ โดยจะขึ้นคานไว้ 30 วัน ที่ท่ารัตนชัย เพื่อตรวจสอบร่วมกัน ระหว่างกรมเจ้าท่า ตำรวจเจ้าของคดีและผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าของเรือฟินิกซ์ ที่ไม่ดำเนินการกู้เรือและขัดคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ได้ออกคำสั่งให้ดำเนินการกู้เรือขึ้นมา เนื่องจากเรือที่จมนั้นอาจจะกีดขวางการเดินเรือได้ในอนาคต และอาจจะเป็นมลภาวะอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในระยะใกล้ๆที่เรือจมอยู่ ประมาณ 100 กว่าเมตร มีแนวโขดหินปะการังอยู่ด้วย โดยเมื่อกรมเจ้าท่า ดำเนินการกู้เรือแล้วเสร็จ จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่าย ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จากเจ้าของเรือต่อไป ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกู้เรือในครั้งนี้ประมาณ 10 ล้านบาท ที่ว่าจ้างบริษัทเอกชน 1 ราย ดำเนินการกู้เรือ

Advertisement

การตรวจสอบเรือในจังหวัดภูเก็ต ที่มีประมาณ 400 ลำ ขณะนี้ทางกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการตรวจสอบเรือขนาดใหญ่ ไปแล้ว กว่า 100 ลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือไดฟ์วิ่ง เรือที่บรรทุกผู้โดยสารขนาด 100 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบข้อบกพร่องของเรือ และกรมเจ้าท่า สั่งให้หยุดเดินเรือและให้ขึ้นคานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างแล้ว จำนวน 2 ลำ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรือขนาดเล็ก เนื่องจากการตรวจสอบเรือปกติจะตรวจปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่หากเจ้าของเรือไม่บำรุงดูแลรักษาให้ดี จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจในช่วงระหว่างปีด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมใช้แนวทางการบริหารจัดการท่าเรือของจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบนำร่อง เป็นภูเก็ต โมเดลให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image