พณ.ชี้แนวโน้มส่งออกภาคเกษตรครึ่งหลังโตน้อย ตามปัจจัยเสี่ยงค้าโลก-ผลผลิตล้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงาน การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยครึ่งปีแรก 2561 ขยายตัว 4% นำโดยข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป โดย ข้าว ส่งออกขยายตัว 17.7% ไปขยายตัวตลาดเบนิน โต 9.89% สหรัฐฯ โต 64.19% อินโดนีเซีย โต 628.47% แอฟริกาใต้ โต 28.68% และฟิลิปปินส์ โต 43.11% ส่วนแง่ราคาโตกว่า 20.1% และแนวโน้มครึ่งปีหลังแนวโน้มส่งออกยังดี และทั้งปีส่งออกข้าวได้ 11 ล้านตัน ตามเป้าหมาย เพราะตลาดที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น อาทิ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลัก ครึ่งปีแรกขยายตัว12.1% และ ขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ ญี่ปุ่น โต 8.27%) สหราชอาณาจักร โต 15.99% เนเธอร์แลนด์ โต 28.46% ลาวโต 35.78% เกาหลีใต้ โต 25.22% ยกเว้นเยอรมนีที่หดตัว 11.6 % แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกยังคงขยายตัว จากความต้องการของตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน

สำหรับผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ครึ่งปีแรกขยายตัว 6% โดยเฉพาะตลาดจีน โต 44.86% เวียดนาม โต 9.63% ฮ่องกง โต 34.43% และเกาหลีใต้ โต 20.4 % ส่วนใหญ่จะขยายตัวในสินค้าผลไม้ โดยเฉพาะสินค้าทุเรียนสด ครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 45.2 ขยายตัวในตลาดจีน โต 103.65% เวียดนาม โต 3.35% ฮ่องกงโต 62.76% มาเลเซีย โต 278.69% และสหรัฐฯ โต 98.15% ลำไยสด ครึ่งปีแรกหดตัว 16% หดตัวในจีน ลบ 30.86% เวียดนาม ลบ 5.82% อินโดนีเซีย ลบ 10.37% และฮ่องกง ลบ 19.33% แต่ยังขยายตัวได้ดี ในอินเดีย โต 100% และประเทศตะวันออกกลางอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โต 21.43% โอมาน โต 33.33% คูเวต บวก 100%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากความต้องการของตลาดหลักอย่างจีนลดลง มังคุดสด ความต้องการลดลง โดยครึ่งปีแรกหดตัวเล็กน้อยที่ 0.85% หดตัวในตลาดเวียดนาม ลบ 19.37% สหรัฐฯ ลบ 45.56% เกาหลีใต้ ลบ 26.79% ญี่ปุ่น ลบ 32.14% แต่ยังขยายตัวในจีน บวก 52.45% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บวก 54.67%) และสิงคโปร์ บวก 900% แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกผักและผลไม้ไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากผลไม้ไทย ยังเป็นที่นิยมของผู้นำเข้าหลักอย่างจีน แม้กระทั่งเวียดนามก็มักนำเอาผลไม้ไทยไปคัดบรรจุ และติดตราสัญลักษณ์ของเวียดนามส่งออกไปยังจีน

Advertisement

ในส่วน อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ครึ่งปีแรกขยายตัว 2.4% สินค้าขยายตัวสูง ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง โต 8 โดยไทยนำเข้าทูน่าปีละ 1 แสนตัน เพื่อมาแปรรูปและส่งออก โดยสงครามการค้าจีนขึ้นภาษีสินค้าประมงจากสหรัฐฯ ทำให้ไทยมีแนวโน้มส่งออกไปจีนได้มากขึ้น ในครึ่งปีหลัง ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาดสหรัฐฯ บวก 20.4% ญี่ปุ่น บวก 21.83% ออสเตรเลีย บวก 4.28% แคนาดา บวก 5.88% หดตัวเล็กน้อยในตลาด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลบ 19.84%) ลิเบีย ลบ 32.06%) และอิสราเอล ลบ 17.43% ขณะที่สินค้าที่หดตัว ได้แก่ กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ครึ่งปีแรกหดตัว 20.8% และยังหดตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ลบ 35.29% ญี่ปุ่น ลบ 3.47% เวียดนาม ลบ 38.87% เกาหลีใต้ ลบ 27.13% แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน บวก 4.51%) และมาเลเซีย บวก 72.16%

“สาเหตุจากปริมาณความต้องการลดลง ผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ หันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นเช่น เอกวาดอร์ เพราะราคาถูกกว่าไทย ขณะที่เวียดนามเปลี่ยนมาเลี้ยงทดแทนการนำเข้าจากไทย และกุ้งจากอินเดียเริ่ม เข้ามาแข่งขันมากขึ้น แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกยังคงหดตัว จากราคากุ้งที่ปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตกุ้งโลกที่เพิ่มขึ้นมาก ”

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ยางพารา ครึ่งปีแรกหดตัว 25.4 โดยเฉพาะตลาดจีน ลบ 35.4% ญี่ปุ่น ลบ 28.02%) มาเลเซีย ลบ 9.69% สหรัฐฯ ลบ 18.95% และเกาหลีใต้ ลบ 31.77% เนื่องจากผลผลิตมีมากเกินกว่าความต้องการ ในขณะที่ผู้ส่งออก ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น เนื่องจากจีน อินเดีย และเวียดนาม ต่างก็ส่งออกยางเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจีนมีการปลูกยางที่ยุนนานมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้า และเริ่มปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางจากประเทศต่างๆรวมถึงไทย ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ปลูกยางต่างขาดความเป็นเอกภาพ ทำให้อำนาจต่อรองของผู้ส่งออกยางมีน้อย แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกยังคงหดตัว จากราคายางที่อาจปรับลดลง เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ครึ่งปีแรกขยายตัว17.2% เนื่องจากตลาดโลกยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดจีน บวก 16.48% ญี่ปุ่น บวก 20.31% อินโดนีเซีย บวก 8.19% และไต้หวัน บวก 20.69% แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกจะหดตัว เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการมันสำปะหลังเพื่อแปรรูปและส่งออก คาดว่าการส่งออกจะลดลงจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง

สำหรับ น้ำตาลทราย มูลค่าการส่งออกครึ่งปีแรกหดตัว 13.8% โดยหดตัวด้านราคาเป็นหลัก แม้ว่าเดือนมิถุนายน ไทยส่งออกได้มากขึ้น เพราะผู้ส่งออกหลักอย่างบราซิลส่งออกน้อยลง เนื่องจากมีปัญหารถบรรทุกประท้วงขึ้นค่าแรง และปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน แต่น่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น เมื่อการผลิตของบราซิลเริ่มกลับมา น่าจะส่งผลให้ราคาลดต่ำลงอีก ประกอบกับปริมาณส่งออกของอินเดียสูงขึ้น แต่ราคาตลาดโลกลดต่ำลง ผลผลิตล่าสุดยังเกินกว่าความต้องการของโลกอยู่ 9 ล้านตัน โดยครึ่งปีแรกส่งไปเกาหลีใต้ บวก 243.75% แต่ อินโดนีเซีย ลบ 25.92%) เมียนมา ลบ 1.65%) ไต้หวัน ลบ 23.42% กัมพูชา ลบ 34.27% และญี่ปุ่น ลบ 34.66% แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการส่งออกจะหดตัว จากราคาน้ำตาลทรายลดลง ตามปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

” การส่งออกของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลง ในระยะสั้น อาจต้องเผชิญความผันผวนจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกไทยกระจายตัวในตลาดใหม่มากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบได้บ้าง สถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่า เป็นผลดีต่อผู้ส่งออกเร่งผลักดันส่งออกสินค้าและทำให้รายได้การส่งออกในรูปเงินบาทสูงขึ้น “นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image