ส่องร่างกม.ตำรวจ เน้นงานบุคคล คุมเข้มแต่งตั้ง-โยกย้าย ไม่ตอบโจทย์ประชาชน?

ภาพประกอบ

กว่า 4 เดือนหลังครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน  เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจ ตามข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

ล่าสุด ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….และพ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญาพ.ศ. ….ผ่านการพิจารณาวาระที่หนึ่งแล้ว
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ร่างพรบ.ทั้งสองฉบับในเว็บไซต์ www.krisdika.go.th เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะเสนอไปยังครม.ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ก่อนเสนอ”สนช.”

สาระสำคัญของ “ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ” ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมเน้นหนักในเรื่องการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้ายขรก.ตำรวจ ที่ถือเป็นเรื่องภายในองค์กร

อย่างเช่นใน มาตรา 25 กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ” (ก.พ.ค.ตร.) จำนวน 7 คน ที่มาจากการคัดเลือกผ่านคณะกรรมการคัดเลือก ที่มี ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการสรรหา มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอต่อ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ “ก.ตร.”เพื่อให้ปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม การวินิจฉัย อุทธรณ์ร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจ

Advertisement

ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งและโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม

ส่วนการแต่งตั้งและโยกย้ายนายตำรวจ ในมาตรา 67 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข อาทิ ตำแหน่ง “ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ “กำหนดให้แต่งตั้งจาก ตำรวจยศพล.ต.อ.ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้คำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถในการบริหารงาน และประสบการณ์ในด้านการสอบสวน งานป้องกันปราบปรามประกอบกัน

ตำแหน่งจเรตำรวจ และรอง ผบ.ตร. กำหนดให้แต่งตั้งจาก ตำรวจยศ พล.ต.ท. หรือ พล.ต.อ. และ เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือ รองจเรตำรวจแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ต้องแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.สอบสวน อย่างน้อย 1 คน แล ผบ.สายงานป้องกัน อย่างน้อย 1 คน

Advertisement

ตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รองจเรตำรวจแห่งชาติ ต้องแต่งตั้งจาก พล.ต.ท. และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการ, ผู้บัญชาการสอบสวน หรือ จเรตำรวจไม่น้อยกว่า 2 ปี

ส่วนการแต่งตั้ง ผู้กำกับ รองผู้กำกับ กำหนดคุณสมบัติว่าต้องผ่านการดำรงตำแหน่งที่สถานีตำรวจระดับเล็กหรือกลาง 2 ปีก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งสถานีตำรวจระดับใหญ่ได้

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจ ในมาตรา 35 กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือก.ร.ตร.” จำนวน 9 คน

“มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อน หรือ ไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชน จากการกระทำของข้าราชการตำรวจอันมิชอบหรือการประพฤติที่ไม่เหมาะสม เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ”

ส่วน“ร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา” ที่คณะกรรมการฯ ยกร่างขึ้นมาใหม่ เน้นปรับปรุงกระบวนการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม  กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เกิดความชัดเจนเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ

เช่น ในมาตรา 7 “เพื่อประโยชน์ในการบริการประชาชนและดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้พนักงานสอบสวนในทุกท้องที่มีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษต่อตน ณ สถานที่ทำการที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด และเมื่อรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแล้ว ให้มีหน้าที่สอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษพร้อมสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว และให้ถือว่าการร้องทุกข์ การกล่าวโทษ และการสอบสวนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

มาตรา 8 กรณีที่พนักงานสอบสวนต่างท้องที่ในเขตจังหวัดเดียวกัน มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาเดียวกันผู้บังคับการสอบสวนมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนความผิดอาญานั้นได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกของพยาน ประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการดำเนินการประกอบกัน ซึ่งผู้บังคับการสอบสวนจะสั่งก่อนเริ่มดำเนินการสอบสวนหรือระหว่างสอบสวนก็ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ที่สังคมคาดหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ ตอบโจทย์ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการจากตำรวจ ในยุคสมัยที่ภาพลักษณ์ตำรวจไทยยังติดลบ..??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image