เปิดอันดับแบรนด์ ‘กาแฟไทย’ ครองตลาดในกัมพูชา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ ในเพจ “Thai Trade Center, Phnom Penh” ได้อ้างอิงข้อมูลการจัดลำดับธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา ว่า  
Weekly Economic News Update : เจาะลึกธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา แบรนด์ไทยยังครองที่ 1 ในตลาด

ธุรกิจร้านกาแฟกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกัมพูชา และเป็นอีกเทรนด์ใหม่ของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในกัมพูชา คือ ต้องการมีกิจการร้านกาแฟเป็นของตนเอง โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของเฟรนไชน์กาแฟแบรนด์ดังๆ จากต่างชาติ จึงทำให้มีนักธุรกิจหลายลงทุนซื้อเฟรนไชน์ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในกัมพูชา หรือบางรายไม่ซื้อเฟรนไชน์แต่สร้างแบรนด์ใหม่ของตัวเองขึ้น ทำให้ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชาเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่ามีปริมาณร้านกาแฟเปิดใหม่เกินกว่าจำนวนผู้ต้องการบริโภคก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันมีร้านกาแฟเปิดให้บริการกว่า 300 ร้านในกรุงพนมเปญ และประมาณ 500 ร้านทั่วประเทศ

สำหรับแบรนด์กาแฟของไทยยังคงเป็นที่นิยมในตลาดกัมพูชาไม่แพ้แบรนด์อื่นๆ จากฝั่งยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันมีแบรนด์ของไทยขยายตลาดเข้ามาในกัมพูชาแล้วกว่า 10 แบรนด์ อาทิเช่น Amazon, Coffee Today, True Coffee, Inthanin, Arabitia, ชาพะยอม, ชาตรามือ, ชอบชา, ดอยช้าง, ดอยหล่อ และ ชาวดอย เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าร้านกาแฟแบรนด์ไทยมีสัดส่วนการครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 จากจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา โดย Amazon ยังคงเป็นที่นิยมและสามารถขยายสาขาได้มากที่สุดถึง 104 สาขา ภายในเวลา 5 ปี และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 20 สาขาภายในปีหน้า ตามด้วย Coffee Today ขยายสาขาได้ 45 สาขา ภายในเวลา 4 ปี และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 15 สาขา ดอยหล่อและดอยช้าง ตามเข้ามาในปี 2017 ปัจจุบันมีสาขาอยู่ที่ 5 และ 3 สาขา ตามลำดับ ชาพะยอม Arabitia และชาวดอย เข้ามาเมื่อปี 2017 ปัจจุบันขยายไปแล้ว 20, 15 และ 5 สาขา ตามลำดับ และ Inthanin แบรนด์ล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาในตลาดกัมพูชาเมื่อต้นปี 2018 ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 2 สาขา และเตรียมจะขยายเพิ่มอีก 3 สาขาภายในสิ้นปีนี้ โดยในแต่ละแบรนด์มีกลยุทธ์การเข้ามาทำตลาดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในรูปของการขายเฟรนไชน์เต็มรูปแบบเจ้าของแบรนด์เข้ามาบริหารจัดการเอง หรือขายวัตถุดิบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านกาแฟจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดกัมพูชา ทำให้มีผู้ต้องการเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดนี้มากขึ้น การแข่งขันในตลาดจึงรุนแรงมากขึ้น แบรนด์ที่มีการปรับตัวมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีก็จะสามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้
นาง Sar Thida นักธุรกิจรายหนึ่งที่ได้ลงทุนทำธุรกิจร้านกาแฟในพนมเปญ เปิดเผยว่า เริ่มดำเนินการเปิดร้านกาแฟสาขาแรกในพนมเปญ เมื่อต้นปี 2560 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงเปิดให้บริการสาขาแรกรายได้ดีมาก มีลูกค้าเข้ามาที่ร้านวันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จึงตั้งเป้าว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในช่วงปลายปี 2019 แน่นอน และทำให้เธอตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มขึ้น อีก 2-3 สาขาในปีต่อมา เพราะคิดว่าเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ได้เป็นอย่างดี แต่กลับตรงกันข้ามรายได้ไม่มากเหมือนสาขาแรกที่เปิด จำนวนลูกค้าน้อยลง ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องมาจากไม่ใช่แค่แบรนด์ของเธอเพียงแบรนด์เดียวที่ขยายสาขาเพิ่ม แต่จากแบรนด์อื่นๆ ก็ขยายสาขาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้มีผู้เล่นในธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงในแต่ละแบรนด์จึงลดลงตามมา

นาย Heng Sengly ผู้จัดการร้าน Park Café หนึ่งในแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในกัมพูชา ที่มีสาขาเปิดให้บริการมากถึง 15 สาขาในปัจจุบัน กล่าวว่า การทำธุรกิจร้านกาแฟมีการแข่งขันที่รุนแรงกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนแค่เจ้าของธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการร้านกาแฟได้ แต่ปัจจุบันแค่มีเงินลงทุนอย่างเดียวไม่พอ เจ้าของธุรกิจจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ มีการศึกษาวิเคราะห์ตลาดและคู่แข่งเป็นอย่างดี มีทำเลที่ตั้งสาขาที่ดีรวมทั้งจะต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่ง จึงจะสามารถอยู่ต่อไปได้ในธุรกิจนี้ ในส่วนของ Park Café ในปีที่ผ่านมา เราเปิดให้บริการแล้ว 11 สาขา และเพิ่งขยายเพิ่มอีก 4 สาขา ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20 สาขาภายในปีนี้ สำหรับ Brown Coffee กาแฟแบรนด์ดังของกัมพูชา ที่ยังคงรักษาฐานลูกค้าไว้ได้แม้ว่าจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ซึ่ง นาง Chem Srey Oeun ผู้จัดการร้านฯ กล่าวว่า ในปีนี้ Brown Coffee ได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา จาก 15 สาขาในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการแข่งขันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะสูงมาก แต่เรายังคงรักษาลูกค้าของเราไว้ได้ ซึ่ง นาง Oeun กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการทำให้ต้องมีการแข่งขันกันในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ บริการ รวมทั้งการคิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มานำเสนอ เพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

Advertisement

ด้านนาย Tep Virak ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ Express Food Group (EFG) ผู้นำเข้ากาแฟแบรนด์ Costa Coffee กาแฟสัญชาติอังกฤษ มาเปิดสาขาในกัมพูชา กล่าวว่า Costa Coffee เริ่มเข้ามาไม่กี่ปีและขยายสาขาอย่างรวดเร็วเป็น 7 สาขาในปีที่ผ่านมา แต่ผลปรากฎว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะคู่แข่งที่มากขึ้น ประกอบกับเราศึกษาตลาดไม่ดีพอ จึงทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น Costa Coffee จึงตัดสินใจลดจำนวนสาขาลง เหลือ 3 สาขาในปีนี้ เช่นเดียวกับ True Coffee แบรนด์กาแฟจากไทย ซึ่งเหลือเพียง 1 สาขาที่ยังเปิดให้บริการ จาก 4 สาขาในปีที่ผ่านมา
สำหรับแบรนด์สัญชาติอเมริกันอย่าง Starbucks เข้ามาสู่ตลาดกัมพูชาได้ 2 ปีกว่า ขยายสาขาไปแล้ว 12 สาขาทั่วกรุงพนมเปญ นาย Por Lim ผู้จัดการทั่วไปของ Starbucks Cambodia กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันคู่แข่งในธุรกิจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่สำหรับ Starbucks เรามีฐานลูกค้าของเราอยู่แล้ว และเราเองก็พยายามทำการตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น รวมทั้งคิดค้นเมนูใหม่ๆ เพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าของเราตลอดเวลา

ความเห็นสำนักงานฯ
ธุรกิจเฟรนไชน์ร้านกาแฟที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดกัมพูชา ส่งผลให้ธุรกิจเฟรนไชน์ของไทยในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ชา หรือแม้แต่ร้านเบเกอรี่และขนมหวาน มีโอกาสเข้ามาขยายสาขาในกัมพูชาได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ไทยยังเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบของผู้บริโภคในตลาดกัมพูชา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดจะเปิดรับการเข้ามาของธุรกิจเฟรนไชน์แบรนด์ต่างๆ ก็ตาม กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สามารถรักษาลูกค้าและครองตลาดได้นานนั้น คือ เจ้าของแบรนด์เองจะต้องเข้ามาสนับสนุน ดูแล ให้คำปรึกษา รวมทั้งติดตามผลผู้ที่ซื้อเฟรนไชน์ไปขยายตลาดด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายไปยังตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก อย่างเช่นในกรณีของ Amazon และ Starbucks ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีการช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านการตลาด รวมทั้งการทำโปรมโมชั่นในด้านต่างๆ จากบริษัทแม่ผู้เป็นเจ้าของเฟรนไชน์อยู่ตลอดเวลา ในทางตรงข้ามมีหลายๆ แบรนด์ที่มีชื่อเสียง ขายเฟรนไชน์เข้ามาเจ้าของแบรนด์ไม่เข้ามาช่วยเหลือดูแลและให้การสนับสนุนในด้านการตลาด การทำโปรโมชั่นต่างๆ และปล่อยให้ผู้ซื้อเฟรนไชน์ท้องถิ่นดำเนินการเอง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เฟรนไชน์หลายๆ แบรนด์ ไม่ประสบความสำเร็จและต้องปิดตัวลงในที่สุด

ที่มาข้อมูล : Phnom Penh Post
เขียนและเรียบเรียงข้อมูล :
นางสาววิลาสินี แจ่มอุลิตรัตน์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจากThai Trade Center, Phnom Penh

Weekly Economic News Update : เจาะลึกธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา แบรนด์ไทยยังครองที่ 1 ในตลาด …

โพสต์โดย Thai Trade Center, Phnom Penh เมื่อ วันพุธที่ 8 สิงหาคม 2018

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image